xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นซ้ำรอย! กทม.สั่งโยธาประสานการไฟฟ้าฯ สำรวจความแข็งแรงเสาไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.สั่งโยธา ประสานการไฟฟ้าฯ สำรวจความแข็งแรงของเสาไฟ หลังถูกพายุพัดจนเสาไฟโค่นล้ม ทำครู กทม.เสียชีวิต ด้านผู้ว่า การ กฟน.แจงเสาไฟถูกออกแบบไว้แข็งแรง แต่เพราะเกิดเหตุลมพายุหมุนซ้ำ 2 เที่ยว ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย และไม่เกิดบ่อยๆ ทำงานมา 10 ปี เจอมาครั้งเดียว ชี้ ล้มเพียง 7 ต้นเท่านั้นหากไม่แข็งแรงล้มมากกว่านี้

วันนี้ (15 พ.ค.) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัด กทม.และคณะลงพื้นที่ตรวจ ถ.ฉลองกรุง บริเวณหน้าบริษัท FBT เขตหนองจอก ภายหลังเกิดเหตุพายุฝน และลมกระโชกรุนแรง จนเสาไฟฟ้าล้ม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.เวลาประมาณ 19.00 น.ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ น.ส.ภัทรภร กิจพานิช อายุ 38 ปี ตำแหน่งครูพี่เลี้ยง โรงเรียนสังฆประชานุสรณ์ สังกัด กทม.และรถยนต์เสียหายจำนวน 8 คัน

พญ.มาลินี กล่าวว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากพายุฤดูร้อนที่พัดอย่างรุนแรง ทำให้เสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ สูง 22 ม.ล้มจำนวน 6 ต้น เสาไฟฟ้าขนาดกลาง สูง 12 ม.ล้มจำนวน 8 ต้น พื้นที่เสียหายยาว 500 ม.ซึ่ง กทม.จะเร่งหาสาเหตุดังกล่าว เนื่องจากบริเวณใกล้เคียง อาทิ บ้าน และต้นไม้ ไม่โค่นล้ม จึงมีข้อสังเกตว่า เสาไฟฟ้าอาจจะไม่แข็งแรง โดยได้สั่งการสำนักการโยธา ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไข และสำรวจความแข็งแรง และความมั่นคงของเสาไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นครูในโรงเรียนสังกัด กทม.ก็จะให้ความช่วยเหลือและดูแลตามสิทธิอย่างเร่งด่วน

จากนั้น นายเจริญรัตน์ ได้ลงพื้นที่ตรวจชุมชนเคหะฉลองกรุง โซน 6 เขตหนองจอก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนและลมกระโชกแรง ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 40 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ถูกลมพายุพัดจนหลังคาเสียหาย โดยได้มอบหมายสำนักงานเขตหนองจอก จัดหน่วยเคลื่อนที่เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งประสานการไฟฟ้าฯทำการตรวจสอบเสาไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
ด้านนายอาทร สินสวัสดิ์  ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสาเหตุ เกิดจากพายุเป็นร่องตามแนว ตั้งแต่ถนนคุ้มเกล้า ผ่านมาจากตะวันตก วิ่งมาทางตะวันออก และผ่านถนนฉลองกรุง สังเกตได้จากแนวที่เจอ นอกเหนือจากถนนฉลองกรุง ยังมีถนนคุ้มเกล้า ที่เสาล้มเป็นร่องลมตรงนั้น เพราะที่คุ้มเกล้าเสาล้ม 26 ต้น ที่ฉลองกรุง เสาใหญ่ล้ม 7 ต้น และเสาเล็กอีก 8 ต้น คือ สาเหตุเข้าใจว่า มาจากร่องลมร้อน พายุฤดูร้อนที่พัดผ่านมา และดูจากแผนที่เป็นแนวตรงกันทุกประการ ทั้งนี้ ปกติแล้ว เสาที่ออกแบบสามารถทนได้อย่างน้อย 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงความเร็วลม ซึ่งเป็นความเร็วลมปกติ ไม่ใช่ลมพายุ ในแง่ของลมพายุที่กระโชกมาขนาดนี้ จริงๆ แล้ว ได้แค่เอียง แต่ถ้าซ้ำลงมาอีก จะเกิดเหตุการณ์เสาล้มได้
นายอาทร กล่าวยืนยันว่า ด้วยลมพายุปกติธรรมดา กฟน.ได้ออกแบบเสาไฟไว้ให้ทนความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ในแง่ของลมพายุหมุนที่เกิดเหตุการณ์อย่างเมื่อวาน ซึ่งแรงมากแล้ว ก็เกิดซ้ำ 2 เที่ยวเป็นเหตุสุดวิสัย ที่อาจจะไม่ได้เกิดบ่อยนัก เพราะตั้งแต่ที่ทำงานมา 10 ปี เกิดครั้งหนึ่งและมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งความแข็งแรงของเสานั้น ในการพิจารณาครั้งต่อไปบริเวณนอกเมืองคงต้องเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่เสาที่มีในปัจจุบันก็ยังทนได้อยู่ จะเห็นได้ว่า ที่ล้มไปนั้น ถ้าทนไม่ได้จริงๆ จะล้มมากกว่านั้น แต่ในสภาพที่ว่าความแข็งแรงที่ออกแบบเผื่อไว้จึงล้มไปเพียง 7 ต้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น