“สุกุมล” เผยยอดผู้ประกอบการฮัจญ์ถูกร้องเรียน 21 ราย รู้ผลตัดสินสัปดาห์หน้า พบบางรายปลอมเอกสารขอวีซ่า มีโทษหนักถึงขั้นถอนใบอนุญาต เตรียมตั้งศูนย์ฮัจญ์-คณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรง
วันนี้ (10 พ.ค.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวภายหลัง นายนาบิล ฮุสเซน อัชรี อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบในโอกาสอำลาตำแหน่ง ว่า นายนาบิล ได้ชี้แจงกรณีมีข่าวว่า ทางซาอุดีอาระเบีย ปฏิเสธเรื่องการขอโควตาผู้แสวงบุญไทยเพิ่มนั้น ไม่เป็นความจริง ทางซาอุดีอาระเบียกำลังดำเนินการจัดสรรเรื่องโควตาอยู่ ยังไม่ได้ปฏิเสธการขอโควตาเพิ่มตามที่เป็นข่าวออกไป ทั้งนี้ ก่อนที่ท่านอุปทูตซาอุดีอาระเบีย จะหมดวาระลง และเดินทางกลับตนและคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย จะเข้าขอพบท่านอีกครั้ง เพื่อขอข้อคิดเห็นการดำเนินงานเรื่องฮัจญ์ในช่วงเดือนมิถุนายนอีกครั้ง อีกทั้งจะประสานกับกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กระทรวงการต่างประเทศ ในการช่วยดูแลเรื่องที่พักให้แก่ผู้แสวงบุญชาวไทยจำนวน 13,000 คน
นางสุกุมล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ณ กรมการศาสนา (ศน.) ได้มีการพิจารณาโทษกรณีผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ที่ถูกร้องเรียนจากประชาชน เกี่ยวกับการเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปี 2554 จากเดิม 14 บริษัท แต่ทาง ศน.ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอให้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนในปี 2553 ด้วย พร้อมส่งหลักฐานการกระทำความผิดจากประชาชนที่ร้องเรียนมาต่อที่ประชุม ซึ่งในปี 2553 มีผู้ประกอบกิจการฮัจญ์กระทำความผิด 7 บริษัท ทั้งนี้ โดยคณะกรรมการเห็นควรว่า จะต้องดูในข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนที่จะมีการลงมติลงโทษกับผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต คาดว่า จะทราบผลการตัดสินในสัปดาห์หน้า
สำหรับการพิจารณาโทษผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ที่มีหลักฐานยืนยันว่า กระทำผิดจริง และมีการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งกระทำผิดร้ายแรง เช่น การปลอมเอกสารการขอวีซ่าของผู้แสวงบุญ การย้ายที่พักโดยไม่แจ้งต่อผู้แสวงบุญ หรือหน่วยงานของรัฐ จนเกิดการลอยแพ เป็นต้น กรณีเหล่านี้อาจจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนกรณีที่กระทำผิดเป็นครั้งแรก และมีโทษที่ไม่รุนแรง จะมีการภาคทัณฑ์ไว้ก่อน แล้วให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้หารือถึงมาตรการดูแลผู้แสวงบุญ หากบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ย้ายบริษัทได้ เพื่อดูแลผู้แสวงบุญไม่ให้เกิดปัญหาในการเดินทาง สำหรับปี 2555 นี้ มีบริษัทผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ยื่นรายชื่อเข้าร่วมโครงการประมาณ 80 บริษัทแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบจัดตั้งคณะอนุกรรมการมาดูแล 1 ชุด โดยมี นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ.เป็นประธาน มี นายปกรณ์ ตันสกุล ที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม เป็นกรรมการด้วย พร้อมกับเปิดศูนย์ฮัจญ์ขึ้นที่กรมการศาสนา รับเรื่องร้องเรียนและดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางไปแสวงบุญฮัจญ์โดยตรง