xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมร่างประกาศห้ามขายน้ำเมาบนทางสาธารณะ ทางเท้า แผงลอย ท้ายรถกระบะโดนหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สมาน ฟูตระกูล
“หมอสมาน” เผย เตรียมร่างประกาศเหล้าเพิ่มเติมเข้าคณะกรรมการคุมเหล้า เห็นชอบ ชี้ ประกาศห้ามขายบนทางสาธารณะ ครอบคลุมร้าน หาบเร่ แผงลอย ทั้งหมด

วานนี้ (26 เม.ย.) นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเพื่อปรับข้อความในร่างประกาศที่จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรี สธ.เป็นประธาน ว่า การประชุมดังกล่าว ยังเนื้อหาสาระของประกาศยังเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับคำให้เป็นไปตามกฎหมาย และง่ายต่อผู้ปฏิบัติ โดยจะหารืออีกครั้ง ในวันที่ 4 พ.ค.จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ในวันที่ 10 พ.ค.หากที่ประชุมเห็นชอบก็สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เพื่อบังคับใช้ได้ทันที โดยประกาศที่จะนำเข้าที่ประชุม มี 3 เรื่อง จากเดิม 4 เรื่อง โดยประกาศฉบับแรก คือ 1.ห้ามจำหน่าย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ ฟุตปาท ไหล่ทาง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงบนรถ และท้ายรถกระบะด้วย โดยคำว่าทางสาธารณะ ฟุตปาท ไหล่ทาง จะเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่า อะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นทางสาธารณะตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อประกาศฉบับนี้ประกาศใช้ จะทำให้ร้านหาบเร่ การตั้งโต๊ะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ซึ่งตามปกติ ร้านประเภทนี้มักไม่มีใบอนุญาตของกรมสรรพสามิต ในการขายอยู่แล้ว ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร ที่อยู่ริมถนน สามารถขายได้ภายในร้านตามปกติ แต่ต้องไม่มีการดื่มบนทางสาธารณะ ฟุตปาท ไหล่ทาง

“วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ 1.ต้องการให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เรื่องปกติ ที่เด็กและเยาวชน เข้าถึงสามารถพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ และสร้างทัศนคติต่อเด็กว่าการดื่มเป็นเรื่องธรรมดา 2.เพื่อป้องกันปัญหาจากการดื่มในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ที่มีการดื่มบนถนน ท้ายรถกระบะ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังเป็นเหตุของการทะเลาะวิวาท การลวนลาม และปัญหาต่างๆ อีกด้วย เชื่อว่าเบื้องต้นอาจมีเสียงไม่เห็นด้วย และต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่บ้าง แต่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชน รวมถึงร้านค้าที่ขายถูกต้องมีใบอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ต้องมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานพิเศษ เพราะตาม พ.ร.บ.ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายได้ทันที”นพ.สมาน กล่าว

นพ.สมาน กล่าวว่า สำหรับประกาศฉบับที่ 2 ห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ โดยรัฐวิสาหกิจถือว่ามีรัฐถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือเป็นสถานที่ของรัฐเช่นกัน ซึ่งการห้ามจำหน่ายและดื่มในหน่วยงานรัฐ และที่จะประกาศเพิ่ม คือ รัฐวิสาหกิจ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีข้อยกเว้นอยู่แล้ว เช่น การขายในสโมสร การดื่มในที่พักส่วนบุคคล หรือ การจัดเลี้ยงตามประเพณี เป็นต้น การกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมเท่านั้น และประกาศฉบับที่ 3 คือ การห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงาน โดยกฎหมายในข้อนี้ พบว่า กรมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และพนักงาน เห็นด้วย ในการออกกฎหมายดังกล่าว เชื่อว่าไม่มีปัญหาใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น