xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ผีเสื้อ (Butterfly effect) : CL จากไทยสู่อินเดีย/คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน  คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนเช้าระหว่างทางจากบ้านมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นผีเสื้อสีเหลือง บินเป็นกลุ่มๆ รอบต้นไม้ใหญ่ สวยงามมากค่ะ เข้าใจว่า เป็นกลุ่มผีเสื้อเณรที่มาวางไข่กันแล้ว
มาถึงที่ทำงานก็ได้รับอีเมลจากเพื่อน ส่งสรุปการเสวนา “เรียนรู้ประสบการณ์การทำซีแอลยามะเร็งจากอินเดีย” วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ.2555 มาให้อ่าน ทำให้นึกย้อนถึง ช่วงปี 2549-2551 ที่ประเทศไทย ได้ประกาศซีแอล หรือการใช้สิทธิโดยรัฐในยา 7 รายการ เป็นยาต้านไวรัส 2 รายการ (efavirenz, lopinavir/ritonavir ), ยารักษาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ (clopidogrel) และยาต้านมะเร็ง 4 รายการ (letrozole, docetaxel, erlotinib และ imatinib)

ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีการประกาศซีแอลในกลุ่มยาที่ไม่ใช่ยาต้านไวรัส และเป็นการทำตามตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ ขององค์การการค้าโลก ในการใช้มาตรการยืดหยุ่นทางกฎหมาย ซึ่งอนุญาตไว้ในข้อตกลงทริปส์ เป็นการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ซึ่งประกาศโดยรัฐบาล เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร

และเป็นไปตามข้อตกลงทริปส์ มาตรา 31 ทวิ และ มาตรา 51 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542

การประกาศซีแอลของไทย เป็นการขยับปีกผีเสื้อเพื่อให้ผู้ป่วยในไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเป็นประสบการณ์ที่อินเดียได้เรียนรู้ และนำไปสู่คำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรอินเดียที่ให้บริษัท แนทโก้ (Natco) ซึ่งเป็นบริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียผลิตยารักษามะเร็งตับ sorafenib tosylate (Nexavar) ที่ติดสิทธิบัตรได้ โดยประกาศ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2555 ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงถึงร้อยละ 97 โดยจ่ายค่าชดเชยสูงให้กับบริษัทผู้ได้รับสิทธิบัตรร้อยละ 6 ของราคาขายยาชื่อสามัญ
การประกาศซีแอลเป็นมาตรการหนึ่งเท่านั้น ที่ส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็นแต่ราคาแพง เป็นมาตรการในระยะปลายน้ำ คือ ใช้ในกรณีที่ยาได้รับสิทธิบัตรและออกสู่ตลาดแล้ว

แต่มีอีกมาตรการหนึ่ง ที่ควรจะให้ความสำคัญ และเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ในระยะต้นน้ำ คือ การพัฒนาระบบการตรวจสอบสิทธิบัตรยาเพื่อป้องกันการให้สิทธิบัตรแบบที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า คำขอรับสิทธิบัตรยา 96% เป็นสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าได้รับอนุมัติจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรนี้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องตลอดไป ทั้งๆ ที่ยาตัวนั้นไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร จึงควรพัฒนาระบบตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่อนุมัติให้ยาที่ไม่ได้มีความใหม่จริงได้รับสิทธิบัตร ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาราคายาแพงที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น