สาธารณสุข ระดมพลังหน่วยงานในสังกัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าสร้างความปลอดภัยด้านอาหารรวมทั้งอาหารในโรงพยาบาล เพื่อให้คนไทยทุกวัยสุขภาพดี ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หนุนให้ครัวไทยเป็นครัวโลก เผยพบผู้ป่วยจากอาหารและน้ำไม่สะอาดปีละกว่า 1 ล้านราย อันดับ 1 คือ โรคอุจจาระร่วง ส่วนผู้ป่วยเรื้อรัง 4 โรคทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง รอบ 5 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่า 3 ล้านราย
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค กทม. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานด้านอาหารปลอดภัยจากส่วนกลาง และ 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 800 คน เพื่อชี้แจงและมอบนโยบายการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยเพื่อคนไทยสุขภาพดี มีโภชนาการสมวัย สร้างครัวไทยเป็นครัวโลกเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และให้ไทยเป็นแบบอย่างที่ดีในประชาคมอาเซียน
ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ศ.นพ.ดร.คาซูโนริ โออิชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อแบคทีเรียจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นผู้วิจัยอุบัติการณ์โรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ในการนำร่องการรณรงค์ที่จังหวัดพะเยา ให้คนไทยเลิกกินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ และได้มอบรางวัลโรงพยาบาลต้นแบบอาหารปลอดภัย 4 แห่ง รางวัลโรงพยาบาลมาตรฐานอาหารฮาลาล 2 แห่ง รางวัลทีมงานอาหารปลอดภัยเข้มแข็งระดับจังหวัด 21 แห่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทั้ง 77 จังหวัด เร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ไม่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร และรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 5 โรคสำคัญที่ทำให้คนไทยอายุสั้นได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
ในการดำเนินงานดังกล่าว จะเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการสร้างความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต นำเข้า แปรรูปจนถึงการจำหน่าย กระจายสู่ผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มความเข้มแข็งสถานประกอบการอาหารทุกประเภทให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และเผยแพร่ข้อมูลให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มที่พักฟื้นเพื่อไม่กลับมาป่วยซ้ำ โดยจุดที่เน้นหนักให้เข้มงวดความปลอดภัย 7 แห่ง ได้แก่ สถานที่ผลิต ตลาดสด ตลาดค้าส่ง ตลาดนัด รถเร่ แผงลอย และร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาล ในโรงเรียน โดยจะมีการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทั้งน้ำ น้ำแข็ง อาหารทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ทั้งสดและแปรรูป น้ำมันทอดซ้ำ นมโรงเรียน และออกใบรับรองความปลอดภัยให้ในส่วนของโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย จะเน้นการจัดเมนูชูสุขภาพ เพื่อให้เป็นตัวอย่างประชาชนในการประกอบอาหารที่ปลอดภัย และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 5 โรคที่กล่าวมา ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ประสบผลสำเร็จ 4 แห่ง ได้แก่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย รพ.หาดใหญ่ และ รพ.สงขลา จ.สงขลา ส่วนโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยหรือผู้รับบริการที่เป็นชาวไทยมุสลิมที่มี 56 แห่งทั่วประเทศ จะพัฒนาโรงครัวให้เป็นโรงครัวฮาลาลทุกแห่ง ขณะนี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาล-คิว (HAL-Q) แล้ว 2 แห่ง คือโรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลสตูล
ด้าน น.พ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีไทยพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงมาตรฐานความสะอาดของอาหารและน้ำ รวมปีละกว่า 1 ล้านราย โดยข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยาในปี 2554 พบ 1,419,181 ราย อันดับ 1 คือ โรคอุจจาระร่วง 1,303,921 ราย อาหารเป็นพิษ 100,534 ราย บิด 14,447 ราย และอหิวาตกโรค 279 ราย ในรอบ 4 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง โรคบิด และอหิวาตกโรค รวม 413,811 ราย ส่วนโรคเรื้อรังที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม 4 โรคสำคัญ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2549-2553 พบทั้งสิ้น 3,093,546 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกโรค อันดับ 1 คือ ความดันโลหิตสูง พบผู้ป่วย 1,725,719 ราย อันดับ 2 เบาหวาน พบ 888,580 ราย อันดับ 3 โรคหัวใจขาดเลือด พบ 171,353 ราย และอันดับ 4 โรคหลอดเลือดสมอง พบ 140,243 ราย
ด้าน นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร (ศปอ.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการตรวจสอบเฝ้าระวังอาหารดิบ อาหารปรุงสุก พบว่า ยังมีการปนเปื้อนสารเคมีต้องห้าม เช่น ยาฆ่าแมลง สารฟอกขาว และเชื้อจุลินทรีย์ ประมาณร้อยละ 4 อาหารที่ตกมาตรฐานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำแข็งพบร้อยละ 15.38 น้ำดื่มพบร้อยละ 14.21 และอาหารปรุงจำหน่ายพบร้อยละ 10.29 โดยพบ จุลินทรีย์ที่มือพ่อค้า แม่ค้าหยิบจับอาหาร เนื่องจากไม่ล้างมือ ไม่ทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ในการปรุงอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาอาหารเป็นพิษ อาเจียน ท้องเสีย หรือมีไข้ได้