“วิทยา” กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกแห่ง เฝ้าระวัง การป่วย เสียชีวิต ในช่วงอากาศร้อน และ แล้ง แนะประชาชนดับร้อน เน้นดูแลสุขภาพ สวมเสื้อผ้าซับเหงื่อ- ดื่มน้ำให้มาก
จากที่สภาพอากาศประเทศไทยจะร้อนจัดขึ้น และจะร้อนที่สุดในช่วงวันที่ 26-27 เม.ย.2555 นี้ ล่าสุด วันนี้ (21 เม.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ให้เฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต ที่อาจจะเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากภาวะภัยแล้ง และอากาศร้อน โดยให้ความรู้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือทำงานในช่วงที่อากาศร้อนจัด เช่น ปรับเวลาทำงานให้ทำงานในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นแทน ให้หยุดพักบ่อยๆ หรือทำงานในที่ร่มแทน ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อน 2 ราย ที่จังหวัดลำปาง ผลการสอบสวนไม่ใช่เสียชีวิตจากอากาศร้อน แต่เสียชีวิตจากโรคประจำตัว รายแรกเป็นชายอายุ 54 ปี เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 84 ปี เสียชีวิตจากหัวใจวาย ทั้งนี้หากสงสัยการเสียชีวิต ให้สอบสวนหาสาเหตุ เพื่อให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันตนเอง
2.ให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง โดยสวมเสื้อผ้าบางๆ เพื่อให้ซับเหงื่อ และป้องกันความร้อนเข้าสู่รางกายโดยตรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กินผักผลไม้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ และหันมาดื่มน้ำเปล่าไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แก้ว และดื่มน้ำสมุนไพรไทยที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ตัวโดยทำเองที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรชนิด มีสรรพคุณดับกระหาย ช่วยคลายร้อนได้ เบื้องต้นมี 6 ชนิด ได้แก่มะตูม ใบเตย บัวบก ฝาง ดอกเก๊กฮวย และน้ำตรีผลา ซึ่งประกอบด้วย สมุนไพร 3 ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม สมุนไพรดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่ายกาย โดยประชาชนสามารถนำมาต้ม ไม่ต้องใส่น้ำตาล เพื่อให้ทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวและปกติทั่วไปสามารถใช้ดื่มแทนน้ำเปล่าได้ สำหรับฝาง เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานกว่า 50 ปี มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ใช้บำรุงเลือดในผู้หญิง ทำให้ผิวพรรณดี ส่วนบัวบกมีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น แก้อักเสบหรือช้ำใน ส่วนใบเตย มีสรรพคุณลดอาการกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นขึ้น
นอกจากนี้ ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งมักจะชอบลงไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสภาพที่อากาศร้อนอบอ้าว มีโอกาสเสี่ยงต่อการจมน้ำเสยชีวิตได้ ซึ่งจากผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วประเทศ ที่มีประมาณ 13 ล้านคน พบว่า ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น โดยขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองดูแลระมัดระวังอย่างปล่อยลูกหลานเล่นน้ำกันตามลำพัง และสอนวิธีการช่วยคนจมน้ำ โดยอย่าโดดลงไปช่วยโดยที่ตัวเองว่ายน้ำไม่เป็นเช่นกัน ขอให้ใช้ไม้ยาวให้คนจมน้ำจับแล้วลากเข้าฝั่ง หรือใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้เช่นแกลลอนเปล่า เพื่อให้ผู้ที่กำลังจมน้ำเกาะพยุงตัว หรือตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมามักพบว่าเด็กจะเสียชีวิตคราวละหลายคน จากการลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำ นายวิทยา กล่าว