xs
xsm
sm
md
lg

“สมพงษ์” เห็นด้วย “สุชาติ” แจกคูปองซื้อหนังสือ แนะคัดเด็กจนจริง-จนพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
“สมพงษ์” เห็นด้วยแจกคูปอง ชี้ เดินมาถูกทาง พร้อมแนะเน้นเด็กยากจนจริง และยากจนพิเศษ และควรกำหนดเส้นรายได้เพื่อคัดเด็กได้จริง เผยมีผลการศึกษารายได้ครัวเรือนครอบครัวที่ยากจนพิเศษอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาทต่อปี

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกรทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายจะจัดทำคูปองเพื่อแจกให้นักเรียนที่มีฐานะยากจนนำไปซื้อหนังสือที่ต้องการเอง โดยมีเป้าหมายจะแจกให้กับนักเรียนยากจนจำนวน 2.5 ล้านคน จากนักเรียนชั้น ป.1-6 ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 5 ล้านคน ซึ่งได้มอบให้สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปหาแนวทางและวิเคราะห์งบประมาณที่ต้องใช้ ว่า ส่วนตัวมองว่าการแจกคูปองให้นักเรียนยากจนนั้นเดินมาถูกทาง และเห็นว่าน่าจะทำควบคู่กับการทำบัตรประจำตัวเด็ก เพื่อจะได้เป็นข้อมูลคัดกรองเด็กได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่มีฐานะยากจนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะ ตนมองว่าเป้าหมายที่จะแจกเด็ก 2.5 ล้านคน ก็ควรจะวางเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนให้ดี ว่า จะกำหนดให้อยู่ในระดับรายได้ครัวเรือนที่เท่าไรต่อปี เช่น อาจจะกำหนดไว้ที่รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และควรจะเน้นที่กลุ่มยากจนจริงและยากจนพิเศษ ซึ่งมีผลการศึกษา พบว่า รายได้ต่อปีของครอบครัวที่มีความยากจนพิเศษนั้นอยู่ที่ 60,000-70,000 บาทต่อปีเท่านั้น

“ผมมองว่าตอนนี้เดินมาถูกทางแล้ว และก็น่าจะทำมานานแล้วด้วย เพราะเด็กในกลุ่มด้อยโอกาสนั้น หากเราปล่อยปละละเลยสุดท้ายจะกลายเป็นว่าเราผลักเขาออกไปจากระบบการศึกษา แต่ถ้าเรามีโอกาสจะส่งเสริมให้เขาและพ่อแม่ได้เลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่าจะต้องคัดกรองที่ยากจนจริง และยากจนพิเศษ อาจจะถามจากครูประจำชั้น ที่สำคัญก็ต้องชี้แจงกับพ่อแม่ด้วยว่าการแจกคูปองนั้นใช้เพื่อประโยชน์อะไร ทำเพื่ออะไร” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนการจะนำเงินไปซื้อหนังสืออะไรนั้นมองว่าไม่ควรไปวางเกณฑ์บังคับ แต่กระทรวงอาจจะวางแนวทางสำหรับประกอบการตัดสินใจของเด็กและผู้ปกครองได้ ส่วนมูลค่าของคูปองนั้นตนไม่สามารถระบุได้ว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร แต่เคยมีการศึกษารายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนของเด็กจะอยู่ที่ 27,000-30,000 บาท หรือเฉลี่ยใช้ในชีวิตประจำวันๆ ละ 70-80 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น