xs
xsm
sm
md
lg

เตือน ระวัง “วิบริโอ-อีโคไล” ในอาหารทะเล ก่อโรคท้องร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมวิทย์ พบ เชื้ออีโคไล-วิบริโอ ในอาหารทะเลสูงเกินมาตรฐาน แนะประชาชนเลือกทานอาหารสะอาด ปรุงสุก และล้างมือก่อนมื้ออาหาร ลดความเสี่ยง

วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ชลบุรี ร่วมกับ เทศบาลเมืองพัทยา สุ่มเก็บอาหารทะเลพร้อมบริโภค เช่น ปูม้าต้ม ปลาหมึกย่าง  กุ้งต้ม ปลาซาบะ และน้ำจิ้มจากร้านอาหารตามสั่ง  หาบเร่ และรถเร่ที่จำหน่ายบริเวณชายหาดพัทยาและหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ในอาหารทะเลยอดนิยม ได้แก่ ปูม้าต้ม ปลาหมึกย่าง กุ้งต้ม หอยแมลงภู่นึ่ง และปลาซาบะ รวม 83 ตัวอย่าง และน้ำจิ้ม 40 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์  พบว่า อาหารทะเลพร้อมบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 43 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 51.8 ซึ่งตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล (E.coli) สูงเกินเกณฑ์ทุกตัวอย่าง  โดยพบมากสุดในปูม้าต้ม นอกจากนี้ ยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษชนิดอื่นๆ อีก  สำหรับผลการตรวจน้ำจิ้มที่มาจากรถเร่  และหาบเร่  พบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 66.7 และ 51.4 ตามลำดับ  ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อวิบริโอ คอเลอเร (Vibrio cholerae) มากที่สุด

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า  จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลและน้ำจิ้ม พบการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล  ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย หากผู้บริโภคได้รับเชื้อในปริมาณที่สูง จะทำให้มีอาการท้องร่วง และอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปวดท้อง ถ่ายเหลว บางรายอาจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน ส่วนเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้อวิบริโอ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน

ด้านนพ.บุญชัย  สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารทะเลพร้อมบริโภคนั้น  ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนของ  เชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารในอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ อาจเกิดจากอาหารผ่านความร้อนไม่เพียงพอที่จะทำลายเชื้อต่างๆ ที่ปนเปื้อนมาจากธรรมชาติ อีกทั้งจากการตรวจวิเคราะห์ยังพบเชื้อวิบริโอ คอเลอเร ซึ่งเป็นเชื้อที่ทนความร้อน  ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคผู้บริโภคควรรับประทานอาหารทะเลที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ดื่มน้ำที่สะอาด ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และควรคำนึงถึงสุขลักษณะของผู้จำหน่าย ความสะอาดของภาชนะ เพื่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ  อย่างไรก็ตาม  หากมีอาการท้องร่วงไม่รุนแรงนักก็ให้รับประทานเกลือแร่ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ  แต่ถ้าหากอาการยังไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์เป็นการด่วนไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก  และไตวาย อาจจะทำให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาระงับการถ่ายอุจจาระ เพราะยาประเภทนี้จะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
    สำหรับการเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ได้รายงานผลดังกล่าวให้ทางเทศบาลเมืองพัทยาทราบแล้ว  ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองพัทยาได้จัดทำโครงการบริโภคอาหารปลอดภัย โดยมุ่งเน้นกิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายอาหารทะเล พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่  นอกจากนี้ ยังได้จัดรถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (mobile lab) ออกตรวจอาหารอย่างต่อเนื่องโดยใช้ชุดทดสอบความปลอดภัยด้านอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบอาหารด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น