xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเด็กมะกัน ชี้ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ช่วยเสริมการเรียนรู้แก่เด็กมากกว่าดูทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะแพทย์ รามาฯ จับมือ สสส.จัดประชุมวิชาการ ขานรับนโยบายรัฐพัฒนาศักยภาพสมองเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน ย้ำ หนังสือเหมาะสมกับการพัฒนาสมองมากกว่าแท็บเล็ต ขณะที่ นักวิชาการเด็กมะกัน ชี้ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กมากกว่า “ทีวี” เผย ความเครียด-วิตกกังวล-มีผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก

ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง “พัฒนาศักยภาพสมองเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน” จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ (สสส.)และโครงการมหานครแห่งการอ่าน กทม.ที่ห้องประชุมรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีใจความตอนหนึ่งว่า คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยดูแลตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงเสียชีวิต หนึ่งในโครงการที่สำคัญ คือ แผนพัฒนาศักยภาพสมองเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่จะสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน โดยมีการแจกชุดหนังสือเล่มแรกของชีวิต หรือ Bookstart แก่ผู้ปกครองเพื่อให้เด็กอ่าน ซึ่งตนยืนยันว่าเด็กในช่วงปฐมวัยนี้ต้องใช้หนังสือเพื่อการพัฒนาสมองไม่ใช่แท็บเล็ต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ด้าน ดร.แบร์รี่ ซักเคอร์แมน (Barry Zuckerman) ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เด็กไม่เพียงจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น แต่จะต้องมีความสุขกับการดำเนินชีวิต โดยจะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มอัตราในช่วง 5-7 ปีแรก แต่อายุที่ควรจะเริ่มให้เด็กได้เรียนรู้ไม่ควรเกิน 6 เดือน เพราะเด็กจะเริ่มมีความสามารถในการมองเห็นและตอบสนองได้ดี ดังนั้น พ่อแม่จึงควรอ่านหนังสือ และชี้ชวนให้ลูกดูรูปในหนังสือแทนที่จะให้ลูกดูโทรทัศน์ เพราะจากการวิจัยพบว่าการให้เด็กเล็กๆ ดูโทรทัศน์ไม่มีผลต่อการพัฒนาสมองเด็ก เนื่องจากรูปภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโทรทัศน์ทำให้เด็กจดจ่อแต่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ ทั้งนี้ การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ไม่ควรเป็นการสอน แต่ขอให้เป็นเวลาที่พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกเป็นการชี้ชวนให้ดู โดยให้เด็กมีส่วนร่วมมากที่สุดจะทำให้เด็กสนุก และมีประสบการณ์ที่ดีในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะเตือนคือ เวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟังต้องพูดช้ากว่าปกติ และใช้น้ำเสียงสูงต่ำกว่าที่เป็นจริง เพราะจะทำให้เด็กสนใจมากกว่าการพูดด้วยน้ำเสียงปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ดร.แบร์รี่ กล่าวอีกว่า อุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็กผ่านการอ่าน คือ ความยากจน ซึ่งพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจนจะมีพัฒนาการในการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่มีฐานะดีกว่า เด็กที่มีความเครียดความรุนแรงในบ้านจะมีผลต่อความจำของเด็ก และเด็กที่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตัวต่ออันตรายมากเกินไปจะทำให้ตัดโอกาสความอยากรู้อยากเห็นให้ลดลง ทั้งนี้ จากการที่ตนได้ทำการศึกษาเด็กในชนบทของเมืองบอสตัน พบว่า พ่อแม่มักไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเพราะไม่มีเงิน ซึ่งพ่อแม่เหล่านี้มาจากวัฒนธรรมที่ไม่สอนลูกให้อ่านหนังสือ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้เหล่านี้ สำหรับประเทศไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในการสนับสนุนการพัฒนาสมองเด็กผ่านการอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะการรักการอ่านจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กรักการเรียนต่อไป

“สิ่งที่ต้องเน้นย้ำในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง คือ การมองหน้าเด็ก ให้ความสนใจที่ตัวเด็กเป็นหลัก และต้องทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน เพราะการอ่านหนังสือในเด็กปฐมวัยเป็นการสอนให้เด็กรักการอ่าน ที่สำคัญคือ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ แม่กับลูก ไม่ใช่เน้นการสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นตัวเชื่อมในการให้คำแนะนำพ่อแม่ในการพัฒนาสมองเด็กในช่วงปฐมวัยผ่านการอ่าน” ดร.แบร์รี่ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น