xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ เตือนภัยหยุดภาวะโรคอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
แพทยศาสตร์ จุฬาฯ เตือนภัยภาวะโรคอ้วน ...หยุดก่อนที่จะสายเกินแก้ ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคอ้วนผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ควรควบคุมน้ำหนัก ก่อนถึงขั้นเป็นโรคอ้วนผิดปกติ เผยผลวิจัยโรงพยาบาลจุฬาฯ จากการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนผิดปกติ 100 ราย พบว่า ร้อยละ 28 เป็นโรคเบาหวาน และร้อยละ 56 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งร้อยละ 80 โรคแทรกซ้อนดังกล่าวหายไปหลังจากลดน้ำหนักลง ตัวแทนโรคอ้วนชี้กลับมาอ้วนได้อีกหากไม่ควบคุมอาหาร

รศ.นพ.วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา “แพทย์เตือนภัย หยุดภาวะโรคอ้วน กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง” ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และพบว่า โรคอ้วนมีความสัมพันธ์เสี่ยงต่อชีวิตทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ทุกกลุ่มอายุ โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI: น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเซนติเมตรกำลังสอง) มากกว่า 30 จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามค่า BMI ที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่มี BMI มากกว่า 35-40 ขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอ้วนผิดปกติ ซึ่งจะยากต่อการรักษาและควบคุมอาหาร และภาวะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก ไขมันในเลือดสูง โรคไขข้อและกระดูกพรุน โรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับ ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า 1 โรค

ด้าน รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มค่า BMI ไม่เกิน 35 จะใช้วิธีควบคุมปริมาณอาหาร ลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แต่ในกลุ่มโรคอ้วนผิดปกติ ได้แก่ ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น การรักษาหลักจะใช้วิธีศัลยศาสตร์ โดยอาศัยหลักการในการการรักษา 2 หลัก คือ 1.การลดขนาดกระเพาะ และ 2.การลดการดูดซึม จากสองหลักการดังกล่าวสามารถให้การผ่าตัด 3 วิธี คือ 1.การรัดกระเพาะ โดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำให้อิ่มเร็ว 2.การตัดกระเพาะส่วนใหญ่ที่ขยายได้ออกให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน และ 3.การตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและบายพาสลำไส้ ซึ่งทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กและการบายพาส ทำให้น้ำย่อยและอาหารพบกันในระดับที่ไกลลงไปอีก 150 เซนติเมตร วิธีนี้จึงเป็นวิธีหลักและได้ผลดีที่สุด

“จากประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนผิดปกติใน รพ.จุฬาลงกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย โดยเป็นผู้หญิง 51 ราย และผู้ชาย 49 ราย อายุระหว่าง 18-57 ปี น้ำหนักเฉลี่ยก่อนรักษา คือ 136 กิโลกรัม (87-280 กก.) โดยพบว่า มีโรคแทรกซ้อน คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคไขมันในเลือดสูงผิดปกติ จากการติดตามหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยดังกล่าว พบว่า โดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้ถึงคนละ 50 กิโลกรัม และผู้ป่วยทั้งหมดดีขึ้นจากโรคแทรกซ้อน โดยหายขาดจากโรคเบาหวานร้อยละ 82 และโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด และโรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับก็หายขาดถึงร้อยละ 60 จากประสบการณ์นี้ทำให้ทราบถึงมหันตภัยจากโรคอ้วน และหากสามารถควบคุมโรคอ้วนได้ โรคแทรกซ้อนต่างๆ จะดีขึ้นหรือหายไป จากความรู้ที่ได้นี้หากเราสามารถช่วยกันหยุด โรคอ้วนได้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ต่างๆ จึงอยากเชิญชวนทุกคนดูแลตัวเองไม่ให้อ้วนจะได้มีสุขภาพที่ดี” รศ.นพ.สุเทพ กล่าว

ด้าน นายอัฐพล แดงคำคูณ หรือ คุณปิ๊ก น้ำหวาน หนึ่งในตัวแทนโรคอ้วนผิดปกติและได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเรียบร้อยแล้ว กล่าวว่า ขณะที่มีภาวะโรคอ้วนสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตทุกอย่าง แม้พยายามกินยาลดความอ้วน แต่ก็กลับมาอ้วนอีก เพราะไม่เคยคิดออกกำลังกายเลย แต่การผ่าตัดโรคอ้วนมีผลทำให้น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องรู้สึกสบายตัวมากขึ้น และโรคต่างๆ ก็หายไป เช่น โรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับหายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่คำตอบของคนที่ไม่ดูแลตัวเอง แนวทางที่ถูกต้อง คือ การสำรวจดัชนีมวลกายของตนเองว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ หากเกินกว่า 25 ถือว่าเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนต้องพยายามหยุดน้ำหนักไว้ทันที และปรับพฤติกรรมไม่บริโภคแป้งและน้ำตาลร่วมกับเคลื่อนไหวออกกำลังกายให้มากขึ้น

“หลังการผ่าตัดแล้วต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อดูว่า สามารถควบคุมน้ำหนักได้ผลหรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดลดน้ำหนักจะทำให้น้ำหนักลดลงได้อย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องภายหลังจากการผ่าตัด 18-24 เดือน น้ำหนักจะคงที่ แต่มีบางส่วนน้ำหนักจะกลับเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องควบคุมอาหารลดจำนวนแป้ง และของหวานของมันเช่นกัน เพราะจะมีผลกับการลดน้ำหนักจะไม่ต่อเนื่อง และไม่เป็นผลที่น่าพอใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้ในระยะยาวและลดได้อย่างรวดเร็ว” นายอัฐพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น