เตือนอันตรายซื้อยาทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงเจอ “ยาปลอม” ไทยพบมียอดนำเข้ายาผิดกฎหมายดังกล่าวสูงถึงร้ย์อยละ 10 ชี้ส่วนใหญ่เป็นยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย ยาลดความอ้วนมากสุด เตรียมคุมเข้มคลินิกเสริมความงาม
วันนี้ (22 มี.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ร่วมงานเปิดตัวภาคีความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยของยา (Partnership for Safe Medicine : PSM) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานสำคัญครั้งแรกในประเทศไทยได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) และสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เพื่อลดปัญหา “ยาปลอม” “ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน” ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย และให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยาที่ไม่ปลอดภัย
โดย นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ยาที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลกอาจเป็นยาปลอมถึงร้อยละ 15 โดยร้อยละ 50 วางขายอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยาลดความอ้วน ยาแก้อาการซึมเศร้าและยานอนหลับ สำหรับประเทศไทยขณะนี้พบยาปลอมมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10 ของยาที่จำหน่ายในประเทศไทย ยาเหล่านี้มักจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง และลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความอ้วน ยารักษาโรคมาลาเรีย ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนบางชนิด รวมถึงยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวดหัว ยาลดไข้ ซึ่งยาปลอมหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหล่านี้มักจะมีราคาถูกกว่ายาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มักระบาดในแหล่งท่องเที่ยวและคลินิกเสริมความงาม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ยานำเข้า
ในปี 2554 ตรวจพบคลินิกเสริมความงามหลายแห่ง ใช้ยานำเข้า ส่วนใหญ่เป็นยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เช่น กลูตาไธโอน โบท๊อกซ์ คอลลาเจล พลาเชนต้า รกแกะ วิตามินซี รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกับ อย.มาให้บริการลูกค้า จากข้อมูลย้อนหลังในปี2548 พบว่ามีการลักลอบนำเข้ายาปลอมจำนวน 54 รายการ รวมมูลค่า 31.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยารักษาอาการหย่อนสมรรถนะทางเพศกว่า 31,000 เม็ด ส่วนในปี 2549 พบการลักลอบนำเข้ายาปลอม ยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวน 255 รายการ รวมมูลค่า 11.35 ล้านบาท มีทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ
นพ.สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในการควบคุมป้องกันปัญหาการผลิต ขาย หรือลักลอบนำเข้ายาปลอมหรือยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสร้างการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพื่อลดปริมาณความต้องการยาประเภทนี้ให้น้อยลง รวมทั้งให้ความรู้ผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ ในเรื่องคุณภาพยา การสังเกตลักษณะของยาที่ไม่ปลอดภัย โดยหากเป็นยาที่ผลิตในประเทศ สถานที่ผลิตยาต้องได้รับอนุญาต และต้องได้การรับรองมาตรฐานการผลิตยาที่ดี (จีเอ็มพี) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเท่านั้น รวมทั้งยานำเข้าก็ต้องได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับอย.แล้ว และต้องมีฉลากยาแสดงรายละเอียดอย่างครบถ้วน นอกจากนี้จะเพิ่มการตรวจสอบคลินิกเสริมความงามทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีการนำยาหรือเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย.มาให้บริการ ประชาชน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน ได้รับยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน หากพบกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างสูงสุด
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า ยาปลอมเป็นยาที่ผลิตเลียนแบบให้มีรูปลักษณะให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นยาจริง หรือเป็นยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องมีขนาดความแรงของยาสูง หรือต่ำกว่าร้อยละ 20 ของเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เมื่อบริโภคแล้วอาจเกิดอันตราย เช่น ไม่หายจากโรค และทำให้เชื้อโรคดื้อยา เพราะมีตัวยาปริมาณไม่มากพอที่จะฆ่าเชื้อได้ หรือในรายที่เชื้อมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต
ทั้งนี้ หากพบเห็นการผลิต การขายยา หรือการลักลอบนำเข้ายา ที่สงสัยว่าเป็นยาปลอม ยาไม่มีเลขทะเบียนตำรับ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทันที