xs
xsm
sm
md
lg

คนไข้... ครูผู้ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพผู้ป่วยที่นอนเรียงรายรอรับการรักษาจากแพทย์ และพยาบาลนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ให้บริการ ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ที่อาจจะไม่แตกต่างกัน คือการการมองว่าคนไข้คือภาระงานที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะส่งผลกระทบไปถึงการกระทำของทีมงานต่อผู้ป่วยทันที แต่หากมองในมุมกลับกันว่าคนไข้ที่อยู่ตรงหน้า คือ “ครู” ด้วยการมองแบบทัศนคติที่ดีเช่นนี้ จะช่วยให้การทำงานของทีมดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ครูที่มีชีวิตเหล่านี้ยอมให้ชีวิต ร่างกาย ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน เพื่อการเรียนรู้และสร้างความเชี่ยวชาญให้แก่ตัวเราเอง และช่วยต่อยอดชีวิตของเราให้เกิดความเมตตากรุณา เพื่อจะนำไปสู่การบรรลุในเป้าหมายในชีวิตตัวเอง

นางเดือนดี มหายศอนันต์ พยาบาลจากโรงพยาบาลน่าน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ในหัวข้อเรื่อง “คนไข้ ครูผู้ยิ่งใหญ่” ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี การพัฒนา และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล จัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ว่า เราเริ่มมีครูตั้งแต่ตอนที่ไปเรียน พอเริ่มเรียนทางการแพทย์และพยาบาลก็มีอาจารย์ใหญ่ ที่แม้จะไม่ใช่คนไข้ที่มีชีวิต แต่ก็สามารถสอนเราได้มากมาย ดังนั้น คนไข้ตัวเป็นๆ ที่มารักษาจึงไม่ใช่แค่การมารักษาและจบไป แต่ยังหมายรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการอย่างเราได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งความรู้ด้านสังคม กาย จิตวิญญาณ และเป็นห้องทดลองเคลื่อนที่ให้กับเรา

อ.หมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเรามองผู้ป่วยเป็นคน เราก็ได้รับชัยชนะครึ่งหนึ่ง ถ้ามองเป็นครู เราก็ได้ชัยชนะเต็มๆ เราเลยเปลี่ยนวิธีคิดในการมองผู้ป่วยดั่งครู และสั่งสมเป็นความรู้ และประสบการณ์มาโดยตลอด ซึ่งหากมองผู้ป่วยเหมือนเป็นลูกหลานหรือญาติของเรา ก็จะช่วยลดอัตตาของเราลง และจะได้ชัยชนะมาเต็มๆ อย่ามองผู้ป่วยเหมือนคนผ่านมาและผ่านไป เราต้องทำด้วยใจ เราทำงานทุกวันนี้เหนื่อยมาก จึงต้องใส่หัวใจเข้าไปในงาน และเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากครูผู้ป่วยไปใช้กับคนอื่นๆ ด้วย” นางเดือนดี กล่าว

ขณะที่ นพ.มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวถึงครูผู้ยิ่งใหญ่ในมุมของผู้ที่ต้องอยู่กับพื้นที่เฉพาะ ว่า รือเสาะเป็นพื้นที่พิเศษที่มีบริบทที่ผูกพันกับต่างประเทศ เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนอพยพมาจากหลายประเทศ ทั้งมาเลเซีย ปากีสถาน อาหรับ เป็นต้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันทำให้เป็นตัวจุดประกายความคิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่ และเป็นการวางระบบบริการที่ดีในพื้นที่แห่งนี้

จากประสบการณ์ของ นพ.มาหะมะ ที่ผ่านมา การเข้าใจคนไข้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ บางครั้งชาวบ้านที่มารักษาไม่ต้องการให้ตัวเองหายขาดจากโรค อาจจะรักษาแค่พอหายดีขึ้น เนื่องจากต้องรีบกลับไปทำงาน นอกจากการเข้าใจคนไข้ทั้งเรื่องของกายและจิตแล้ว การเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ป่วยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น คนไข้ที่ต้องละหมาดและต้องกินยาในช่วงถือศีลอดที่เป็นปัญหาที่ทางโรงพยาบาลรือเสาะเผชิญมาตลอด ก็ต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไขให้กับบริบทของพื้นที่

“ปัญหาที่เราเจอทั้งเรื่องแพทย์ที่หมุนเวียนบ่อย และการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทำให้เดินทางไม่สะดวก เราจึงอยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะลำพังจะหวังพึ่งพาจากรัฐคงไม่ได้ ต้องขอบคุณเรื่องของสุขภาพแบบองค์รวมที่ทำให้เราไปมีส่วนร่วมในมิติอื่นของผู้ป่วยได้มากขึ้น ” นพ.มาหะมะ กล่าว

นพ.มาหะมะ กล่าวว่า การต่อยอดในอีกมิติหนึ่งของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่ถอดประสบการณ์มาจากครูหรือผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองได้นั้น ทำให้เกิดการดึงศักยภาพของชุมชนผ่านโครงการโรงพยาบาลบ้าน บ้าน โดยบ้านตัวแรกหมายถึงโรงพยาบาล และบ้านตัวที่สองหมายถึงบ้านที่อยู่อาศัยจริงๆ เพื่อสื่อให้เห็นว่าการรักษาพยาบาลนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว มีการดึงหมู่บ้าน 2 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านนำร่องในการดูแลสุขภาวะเป็นหลัก ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งการ ป้องกัน ดูแล รักษา

นอกจากเรื่องเล่าจากน่านและรือเสาะในครั้งนี้ จะเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ผู้ให้บริการถ่ายทอดเป็นเรื่องราว โดยมีตัวละครอย่างผู้ป่วยที่เปรียบเสมือนครู ผู้ยิ่งใหญ่แล้ว พวกเขายังหวังว่าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดการสร้างคนรุ่นใหม่มาดูแลคนไข้ในมิติต่างๆ ให้ดีมากขึ้นกว่านี้ เพื่อจะได้นำความรู้ที่มีค่าจากครูเหล่านี้ไปต่อยอดในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น