xs
xsm
sm
md
lg

นักพฤกษศาสตร์ ชี้ “หญ้าหยาดน้ำค้าง” อาจอยู่ในพืชวงศ์สะครอบปุลาริเอซีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คืบหน้าหญ้าหยาดน้ำค้าง นักพฤกษศาสตร์ ชี้อาจอยู่ในวงศ์สะครอบปุลาริเอซีย์ แต่ยังไม่ทราบชนิดชัดเจน ด้านเภสัชกร เผย ยังไม่มียาแผนใดรักษามะเร็งได้ 100% ขอเวลาศึกษาข้อมูล ย้ำหากต้องทดลองสรรพคุณต้องใช้เวลาราว 6 เดือน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าผลเบื้องต้นของการตรวจสอบกรณีชาวบ้านใน จ.กำแพงเพชร แห่เก็บหญ้าหยาดน้ำค้างมารับประทาน โดยเชื่อว่าเป็นยาผีบอก สามารถรักษาโรคมะเร็ง ว่า ล่าสุด ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) กำแพงเพชร ได้นำตัวอย่างหญ้าดังกล่าวมาให้ทางกรมฯพิสูจน์ว่า เป็นพืชตระกูลใด มีสายพันธุ์อะไรบ้าง และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณจริงหรือไม่ ซึ่งคาดว่าใน 1 สัปดาห์น่าจะทราบถึงลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการตรวจสอบว่ามีสารตกค้าง หรือมีสารพิษเจือปนหรือไม่ จะมอบให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบต่อไป

ด้าน ศ.วงศ์สถิต ฉั่วกุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์สะครอบปุลาริเอซีย์ (Scrophulariaceae) อยู่ในสกุลลินเดอเนีย (Lindernia) ซึ่งในสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 32 ชนิด แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า ที่ชาวบ้านเรียกว่าหญ้าหยาดน้ำค้างนั้น อยู่ในชนิดใด จึงต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ ไทยอภัยภูเบศร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ส่วนเรื่องสรรพคุณในการรักษามะเร็งนั้น ในแวดวงถือเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยได้ยินสรรพคุณนี้มาก่อน ดังนั้น จะต้องมีการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร แต่หากไม่พบก็คงต้องเดินหน้าวิจัยกันใหม่ พร้อมทั้งต้องมีการตรวจสอบความเป็นพิษ ซึ่งต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องเริ่มนับ 1 และทำการทดสอบในหนูทดลอง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะทราบ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยขอเตือนชาวบ้าน ไม่ควรแห่ไปเด็ด ไปเก็บต้นหญ้าเหล่านี้มารับประทาน เพราะยังไม่รู้ว่ามีสารชนิดใดเจือปนหรือไม่

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า หญ้าดังกล่าวมีคนบริโภคเป็นผักเหมือนกัน โดยพบทางภาคเหนือของไทย ตามทุ่งนาในกลุ่มไทยใหญ่ นิยมรับประทานเป็นผักลวก ผักจิ้ม เรียกกันว่า ผักเลิน มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้ปวดท้อง แก้ไข บ้างก็นำมาเป็นยาดับกลิ่นตัว เอาใบมาบดขยี้ทาตามตัว แต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะรู้ว่าต้องรับประทานอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และเลือกถูกว่าเป็นหญ้าชนิดนี้ แต่ปัญหาของเราคือ บางทีแห่กันไปเก็บอาจไม่รู้ชัดเจนว่า เป็นผักเลินจริงหรือไม่ ไปเก็บผิดก็อาจเสี่ยงเก็บพืชหรือหญ้าที่มีพิษก็ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ในปัจจุบันทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาแผนไทยยังไม่มีคำตอบในการรักษามะเร็งได้อย่าง 100%

น.ส.กมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุข สำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์ฯ กล่าวว่า ใน 1-2 วันนี้ จะนำพืชดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับพืชในสำนักหอพรรณไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อดูว่าพืชชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ชนิดใด และมีสรรพคุณอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น