xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มบุคลากรผู้รักวชิระ ร่อนหนังสือถึง มท.-ศธ.สางปัญหา หลัง กทม.ไม่เหลียวแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มบุคลากรผู้รักวชิรพยาบาล เดินหน้า ร่อนหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาฯ หลัง กทม.ปัด ไม่แก้ไขปัญหาทุจริต

วันนี้ (6 มี.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น.ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล นพ.อนวัช เสริมสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร และนายอิสราธรณ์ ผูกทอง ตัวแทนผู้ปกครองพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุน ร่วมเป็นตัวแทนกลุ่มบุคลากรผู้รักวชิรพยาบาล แถลงข่าวปัญหาการทำงานที่ไม่โปร่งใสและขาดธรรมาภิบาลในวชิรพยาบาล

นพ.อนวัช กล่าวว่า ปัญหาการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ในหลายกรณีของนายชัยวัน เจริญโชคทวี อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล ที่ผ่านมา ได้มีการร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร (กทม.) ตั้งแต่สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จนถึงสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อีก 7 กรณี แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายเป็นการทุจริตภายในวชิรพยาบาลมีความรุนแรงมากขึ้นตลอดเวลา อาทิ กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้มูลความผิดการทุจริตจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์สวนหัวใจ ของวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 แต่การสอบสวนของมหาวิทยาลัยยังไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุด สตง.ได้ชี้มูลความผิด นายชัยวัน เจริญโชคทวี คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กรณีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง และการก่อสร้างคันกั้นน้ำคอนกรีตเสริมเหล้กที่ไม่มีการออกแบบ ประเมินราคา ทั้งหมดล้วนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 รวมทั้งหมดที่ สตง.ตรวจสอบชี้มูลความผิดแล้วทั้งหมด 4 กรณี เป็นต้น อีกทั้งขณะนี้สภามหาวิทยาลัยเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติ ที่มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นนายกสภา มีวาระไม่เกิน 1 ปี คือ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งขณะนี้เกินระยะเวลาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อีกจำนวน 9 คน รวมถึงอธิการตามบทเฉพาะกาลจะมีวาระไม่เกิน 180 วัน ซึ่งก็เกินระยะเวลามาแล้วเกือบ 4 เดือน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งอธิการบดี ทั้งนี้ ได้มีการสรรหาอธิการบดี คือ นายพิจิตร รัตตกุล แต่คณะกรรมการที่สรรหา ก็ไม่ได้มาอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติ เพราะการสรรหาก็มาจากสภามหาวิทยาลัยที่หมดวาระไปแล้ว

“ผมสงสัยว่า นายวันชัย ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก โดยเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีระดับสูงกว่า ไม่เช่นนั้นคงไม่กระทำการทุจริตต่างๆ เหล่านี้” นพ.อนวัช กล่าว

ด้าน นพ.ทวีวงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยส่งข้อมูลการทุจริตไปให้ผู้ว่าฯ กทม.และปลัด กทม.แต่ก็มีการอ้างว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ กทม.แล้ว ทั้งๆ ที่ชัดเจนว่าอยู่ในการกำกับดูแลของ กทม.ดังนั้น ในเมื่อ กทม.ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ทางกลุ่มจึงเตรียมยื่นหนังสือถึงให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ไม่เช่นนั้นองค์กรนี้ก็คงไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ด้าน นายอิสราธรณ์ กล่าวว่า นักศึกษาพยาบาลที่วชิรพยาบาล ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งทุกคนหวังว่าเมื่อจบการศึกษาจากที่นี่ จะได้เข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนการศึกษา 3 ปี แต่ปรากฏว่า ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อสำเร็็จการศึกษาปรากฏว่า สามารถบรรจุเป็นข้าราชการตามโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ได้ 113 คน เหลือ 62 คน บรรจุเป็นพนักงานของรัฐที่วชิรพยาบาล เนื่องจากออกนอกระบบแล้ว ทั้งๆ ที่พยาบาลกลุ่มนี้ต้องการที่จะเป็นข้าราชการกทม.ซึ่งตนได้ร้องเรียนไปยังปลัด กทม.ซึ่งไม่เป็นผล ร้องเรียนไปยังผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งท่านได้แก้ไขโดยให้บรรจุนักศึกษาพยาบาลเหล่านี้เป็นข้าราชการ กทม.ตามโรงพยาบาลในสังกัดกทม.แทน และให้มาช่วยราชการที่โรงพยาบาลวชิระแทน แต่ขณะนี้เรื่องก็ยังอยู่ที่ปลัด กทม.ซึ่งตนได้ร้องเรียนไปที่ศาลปกครองแล้ว นอกจากนี้ พยาบาลเหล่านี้ยังไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างครบถ้วน อาทิ สิทธิการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การไม่มีบัตรพนักงานเป็นของตนเอง จนขณะนี้ลาออกไปแล้วกว่า 20 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น