xs
xsm
sm
md
lg

หมอประเวศแนะปรับอาชีวะ-ฟื้นฟูความรู้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
หมอประเวศ แนะปรับระบบการศึกษา อาชีวะ การศึกษาชุมชน นำ ปริญญา สร้างคนรู้จริงมีอาชีพส่งผลชุมชนเข้มแข็ง

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา หลายรัฐบาลได้พยายามปฏิรูประบบการศึกษา แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของไทย ซึ่งมีมากว่า 100 ปี เกิดขึ้นมาจากที่ไทยถูกคุกคามจากประเทศตะวันตก โดยถูกมองว่า ไม่มีความรู้ ดังนั้น ไทยจึงนำระบบความรู้จากยุโรปเข้ามาใช้ในไทย ในระบบท่องหนังสือ และเป็นระบบที่ล้าสมัยมากแล้วในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยก็ยังคงใช้กันอยู่ อีกทั้งยังทำให้คนไทยขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง และไม่รู้จักแม้กระทั่งแผ่นดินแม่ของตัวเอง

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า การท่องหนังสือทำให้เด็กไทยไม่ได้เรียนรู้ชีวิตจริง ซึ่งต่างคนสมัยก่อนที่จะเรียนรู้จากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่อยู่จนกลายเป็นวัฒนธรรม เช่น ต้องปลูกเรือนใต้ถุนสูง เพราะประเทศไทยเป็นเมืองน้ำที่ลุ่ม พันธุ์ข้าวโบราณลอยน้ำได้เมื่อน้ำท่วม แต่คนปัจจุบันก็ไม่รู้ เป็นต้น การศึกษาไม่ได้สอนให้คนไทยรู้จักแผ่นดินไทยซึ่งระบบการศึกษาไทย สอนท่องหนังสือ ให้ได้ปริญญา เรียนเมืองนอก แล้วกลับมาทำงานในไทย ทำให้ไม่รู้จักประเทศไทย

โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ นักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ข้าราชการ ที่เป็นระบบกลไกหลักทั้งหมด ส่งผลให้สังคมไทยอ่อนแอ “การศึกษาปฏิรูปที่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ปฏิรูปแนวคิด เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน ไม่ได้นำชีวิตเป็นตัวตั้ง การศึกษาควรนำชีวิตเป็นตัวตั้งและใช้วิชาเป็นเครื่องประกอบ การศึกษาที่ดีที่สุด คือ การศึกษาชุมชน เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ภูมิปัญญา การประกอบอาชีพ ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน ระบบการศึกษาปัจจุบันทำให้ชุมชนอ่อนแอ เพราะทำให้เด็กรู้จักแต่วิชาไม่รู้จักชุมชนของตนเอง ในขณะเดียวกัน ระบบอาชีวศึกษาของไทยถูกละเลย คนกลับไปสนใจใบปริญญา ทั้งที่อาชีวศึกษา คือ การสร้างอาชีพ โดยควรปรับระบบอาชีวศึกษาและการศึกษาชุมชน เป็นระบบสามัญที่ทุกคนต้องเรียน และการเรียนวิชาสามัญ เป็นการศึกษาพิเศษจะทำให้เด็กไทยมีความรู้ที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะได้เรียนวิชาชีวิต” ประธานคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวและว่า หากปรับหลักสูตรให้นักศึกษาอุดมศึกษาไปอยู่กับชาวบ้าน ไปเรียนรู้กับชุมชน อาทิ การทำนา ไม่เน้นทำเพื่อคะแนน แต่ทำเพื่อความรู้ของตนเอง จะทำให้ระบบการศึกษาเปลี่ยนส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น