xs
xsm
sm
md
lg

“มรภ.สวนสุนันทา” คาด 6 เดือน ยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯ แล้วเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มรภ.สวนสุนันทา” เร่งยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา คาด ไม่เกิน 6 เดือน สามารถยกร่างเสร็จ ยันตัดคำว่าราชภัฏออกเพื่อให้การทำงานคล่องตัว

รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือม.นอกระบบของ มรภ.สส.ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริหาร มรภ.สส.เห็นชอบให้ใช้ชื่อร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ตามที่คณะกรรมการยกร่างได้เสนอมา โดยหากเปลี่ยนสถานะไปเป็น ม.นอกระบบ ก็จะต้องเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย จาก มรภ.สส.มาเป็น มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ตัดคำว่า ราชภัฏ ออกเช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในแง่กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ใช้กันอยู่ 40 แห่งขณะนี้เป็น พ.ร.บ.รวมที่ใช้ร่วมกัน และจะใช้ข้อบังคับในการบริหารงานต่างๆ ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กำหนดให้ต้องดำเนินการเหมือนกัน ดังนั้น เพื่อให้การทำงานคล่องตัว และไม่เกิดความไม่ซ้ำซ้อน หากจะออกนอกระบบก็จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งชื่อสวนสุนันทาก็เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มรภ.สส.กำลังอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา และที่ผ่านมา ได้จัดอบรมทำความเข้าใจกับอาจารย์และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการออกนอกระบบแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจดี แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ เพราะคิดว่ามหาวิทยาลัยยังไม่พร้อม และกลัวว่ามหาวิทยาลัยจะดูแลตัวเองไม่ได้ ทั้งที่มหาวิทยาลัยก็ดูแลตัวเองมาพอสมควรแล้ว และขณะนี้บุคลากรกว่า 80% ที่ทำงานก็เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ส่วนนักศึกษาที่เคยออกมาคัดค้านก็เช่นกัน ที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจ ว่าการออกนอกระบบไม่มีผลกระทบต่อการขึ้นค่าเทอมแน่นอน เพียงแต่มหาวิทยาลัยจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น

“ไม่เกิน 6 เดือน น่าจะยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนสุนันทาเรียบร้อย จากนั้นจะเดินหน้าทำประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นจากบุคลากรและนักศึกษา ซึ่งผมคิดคงจะเสนอไม่ทันในปี 2555 นี้ แต่ตั้งเป้าไว้ว่าไม่ควรจะเกินปี 2556 ไม่เช่นนั้นจะถือว่าช้าเกินไป เพราะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 แล้ว มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีการแข่งขันสูงขัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขัน โดย มรภ.สส.เมื่อเปลี่ยนสถานะไป ม.ในกำกับรัฐ แล้ว จะเน้นการเรียนการสอนด้านงานบริการ ศิลปวัฒนธรรม และผลักดันหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น”นายช่วงโชติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น