xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.แจงข้อสอบ O-Net ออกตรงตามหลักสูตร จริง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สทศ.แจงข้อสอบ O-Net ม.6 พร้อมยกตัวอย่างที่เด็กนำโพสต์ผ่านเว็บไซต์ เปรียบเทียบข้อสอบจริง ยันออกตามหลักสูตรการเรียนการสอน ระบุ ประกาศผล O-Net ม.6 วันที่ 10 เม.ย.

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ.แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นำตัวอย่างข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ปีการศึกษา 2555 ที่ได้จัดสอบเมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2555 ขึ้นโพสต์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย โดยมีน้องหลายคนงงกับข้อสอบ ซึ่งมีทั้งข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาสุขศึกษา แต่วิชาที่มีการวิพากษ์มากที่สุด คือ วิชาสุขศึกษา ที่ถามว่า หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร โดยมีให้เลือก 4 ตัวเลือก คือ 1.ชวนเพื่อนไปเตะบอล 2.ปรึกษาครอบครัว 3.ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ และ4.ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ตนทราบเรื่องการโพสต์ข้อสอบดังกล่าว และได้ประสานไปยังกรรมการออกข้อสอบเพื่อขอให้ช่วยชี้แจงและตนได้นำรายละเอียดการที่กรรมการออกข้อสอบชี้แจงนั้น รายงานต่อที่ประชุมบอร์ด สทศ.รับทราบวานนี้ (22 ก.พ.) ทั้งนี้ ประเด็นที่เกิดในขณะนี้ ตนเข้าใจว่า สังคมเกิดคำถามว่าทำไมต้องออกข้อสอบแบบนี้ ออกข้อสอบตามหลักสูตรหรือไม่ แล้วออกข้อสอบนี้วัดอะไร ทำไมต้องวัด ดังนั้น ขอยืนยันว่า ระบบการสร้างและพัฒนาข้อสอบ O-Net ในปีการศึกษา 2554 ที่ใช้สอบทุกระดับเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ทั้งจำนวนวิชา/จำนวนรูปแบบ และสัดส่วนเหมือนกัน ทั้งในช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 6) ช่วงชั้นที่ 3 (ม.3) และช่วงชั้นที่ 4 (ม.6) ซึ่งแต่ละช่วงชั้นมี 6 วิชาและแต่ละวิชากำหนดการสอบไม่เกิน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก เป็นปรนัยแบบเลือกให้คำตอบที่สุดเพียงหนึ่งคำตอบ มีคะแนนไม่น้อยกว่า 80%

และรูปแบบที่ 2 รูปแบบอื่น ๆ ที่แต่ละวิชาประกอบด้วยความข้อสอบที่มีความยากง่ายปานกลางประมาณ 60% ง่ายประมาณ 20% และยากประมาณ 20% และรับประกันได้ออกข้อสอบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สทศ.ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ และตัวชี้วัดที่เป็นจุดเน้นสำหรับการออกข้อสอบ O-Net และมีครูของ สพฐ.มาร่วมในการออกข้อสอบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังได้นำตัวอย่างข้อสอบกระดาษคำตอบแขวนไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้เด็กเข้าไปดูด้วย

ผอ.สทศ.กล่าวต่อว่า สำหรับข้อสอบที่นักเรียนสงสัยนั้น ขอชี้แจงตามที่กรรมการออกสอบรายงานมานั้น ข้อหนึ่งที่มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยถามว่า อาการ “ลักเพศ” จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างไร และมีตัวเลือกดังนี้ ก.สะสมชุดชั้นในเพศตรงข้าม ข.แต่งกายเลียนแบบเพศตรงข้าม ค.รักเพศเดียวกัน ง.โชว์อวัยวะเพศ จ.แอบดูเพื่อนต่างเพศในห้องน้ำ แต่ข้อสอบ O-Net ถามว่า ข้อใดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่เรียกว่า “ลักเพศ” โดยมีตัวเลือก 1.การมีความสุขทางเพศกับการสะสมชุดชั้นในเพศตรงข้าม 2.การมีความสุขทางเพศกับการสวมชุดของเพศตรงข้าม 3.การมีความสุขทางเพศกับการแอบมองตามห้องน้ำ 4.การมีความสุขทางเพศกับเพศเดียวกัน และ 5.การมีความสุขทางเพศกับการอวดอวัยวะเพศ ซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 2 การมีความสุขทางเพศกับการสวมชุดเพศตรงข้าม

“ในข้อนี้นั้นกรรมการผู้ออกสอบชี้แจงว่าเป็นการวัดความรู้ในสาระที่ 2 เรื่องของชีวิตและครอบครัว ในมาตรฐานการเรียนรู้ที่ พ 2.1 และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น 2.1.1 ซึ่งข้อนี้วัดในหัวข้อเนื้อหาเรื่อง พฤติกรรมทางเพศและการดำเนินชีวิต ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ที่หลักสูตรมุ่งสอนให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจของพฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศแบบต่างๆ สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมดังกล่าว และความหมายของคำว่า “ลักเพศ” หมายถึง บุคคลที่มีความสุขทางเพศกับการสวมชุดของเพศตรงข้าม ซึ่งตรงกับตัวเลือกที่ 2 ของคำถาม ข้อนี้จึงเป็นการวัดความจำของเด็กโดยตรง ส่วนข้อที่เด็กถามว่า หากมีอารมณ์ทางเพศต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ชวนเพื่อไปเตะบอล ทั้งนี้ เพราะในมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นในหัวข้อเนื้อหาอารมณ์ทางเพศ และการแสดงพฤติกรรมทางเพศ สอนว่า หากมีอารมณ์ทางเพศให้ออกกำลังกาย แต่การออกสอบต้องการให้เด็กได้คิดจึงแปลงเป็นการเตะบอล”ผอ.สทศ.กล่าว

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สทศ.ยินดีรับฟังและนำไปเป็นข้อสังเกตให้แก่กรรมการผู้ออกข้อสอบเพื่อนำไปปรับปรุงข้อสอบต่อไป ส่วนการประกาศผลสอบ O-Net ม.6 ประกาศวันที่ 10 เมษายน 2555 ซึ่งทันนำผลไปใช้สมัครสอบระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชันกลาง ที่เปิดรับสมัครวันที่ 11 เมษายน ส่วนชั้น ป.6 และ ม.3 ประกาศวันที่ 28 เมษายน 2555 ทั้งนี้ เมื่อประกาศผลสอบคงไม่นำข้อสอบและเฉลยขึ้นบนเว็บไซต์ แต่จะเปิดให้ดูหากมีการร้องขอเป็นรายกรณีไป

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวว่า การออกสอบเป็นการวัดความรู้ความจำพื้นฐานซึ่งตรงตามหลักสูตรพื้นฐานชัดเจน แต่อาจจะมีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าไม่สุภาพ ขณะที่ในบางข้ออาจจะถามตรงๆ แต่บางข้อก็มีการถามเพื่อให้นักเรียนได้คิดถึงเหตุและผลก่อนจะตอบ ซึ่งการฝึกให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นแนวทางที่ รมว.ศึกษาธิการ และ สทศ.ต้องการพัฒนาให้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น