xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ผุดไอเดีย ร.ร.เฉพาะด้านศิลปศาสตร์ เล็งชง “สุชาติ” พิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ผุดไอเดีย ร.ร.เฉพาะด้านศิลปศาสตร์กระจายทั่วภูมิภาค เหมือนที่มี ร.ร.เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เล็งชง “สุชาติ” พิจารณาและเตรียมตั้งงบปี 56 ดำเนินการ พร้อมรื้อข้อมูลดูย้อนหลัง 3 ปี ว่า ร.ร.ใดได้รางวัลมากสุด

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า จากการจัดงานศิลปหัตถกรรม ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่านักเรียนของ สพฐ.มีศักยภาพสูงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านวิชาการ ศิลปหัตถกรรม ศิลปการแสดง และด้านภาษา ดังนั้น สพฐ.จึงมีความคิด ว่า จะต้องพัฒนาอัจฉริยภาพของนักเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา สพฐ.มีโรงเรียนที่เปิดสอนและมีหลักสูตรแบบเข้มข้นเฉพาะด้าน วิทยาศาสตร์ คือ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ได้ขยายเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอีก 12แห่ง แต่ความสามารถด้านอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด ดังนั้น ในการตั้งงบประมาณปี 2556 สพฐ.จะเสนอ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าต่อไปควรจะจัดให้มีโรงเรียนเฉพาะทางด้านศิลปศาสตร์กระจายในหลายๆ ภูมิภาคมากขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านศิลปะ การวาดภาพ งานฝีมือ การแสดง ซึ่งหากมีโรงเรียนทางด้านศิลปศาสตร์มากขึ้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนอย่างเต็มที่แล้ว โรงเรียนก็จะช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดด้วย
นายชินภัทร ภูมิรัตน
สพฐ.จะดูข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี ว่า มีโรงเรียนใดบ้างที่ได้รับรางวัลมากเป็นพิเศษ ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนเหล่านั้นมีต้นทุนทั้งบุคลากร และความพร้อมในการบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านศิลปศาสตร์ ที่ผ่านมา สพฐ.เห็นว่า นี่คือ ช่องว่างของการพัฒนาการศึกษา หากเราจะจัดการศึกษาแบบแผนเดียวกันหมด ก็จะได้นักเรียนที่จบออกมาแบบไม่มีความพิเศษ แต่ถ้าเราใช้แนวคิดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนทั้งด้านการประกอบอาชีพและด้านการเรียนต่อ จะทำให้เห็นศักยภาพของเด็กที่จัดเจนมากขึ้น”นายชินภัทร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการ 7 กลุ่มอาชีพ ยังเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะ ศ.ดร.สุชาติ มีนโยบายออกมาว่าอยากให้นักเรียน เรียนหลักสูตรที่กว้างและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ.มีความเหมาะสมกับการเรียนในปัจจุบันแล้ว นายชินภัทร กล่าวว่า สพฐ.คงไม่จัดการเรียนการสอนแบบเจาะลึกแล้วแคบ หลักสูตรของขั้นพื้นฐานยังเป็นแบบการศึกษาทั่วไป แต่เนื้อหาของสิ่งที่นักเรียนเรียนต้องมีความเฉพาะที่เหมาะสม และถ้าเกี่ยวข้องกับอาชีพด้วยก็จะทำให้การเรียนมีชีวิต คิดว่า หลักการที่ให้นักเรียนเรียนกว้างหรือจัดการศึกษาตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปหยุดยั้งในกิจกรรมที่ สพฐ.ได้ทำมาแต่คงจะเป็นการเรียนแบบผสมผสานกัน ไม่ได้มุ่งสอนให้นักเรียนลงในอาชีพเฉพาะ ดังนั้น นักเรียนที่จบการศึกษา ม.ปลาย ก็ยังเป็นหลักสูตรสามัญศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น