xs
xsm
sm
md
lg

อย.เล็งไขก๊อก “น้ำมันทอดซ้ำ” เป็นวัตถุอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อย.พร้อมพิจารณาข้อเสนอ จัด “น้ำมันทอดซ้ำ” เป็นวัตถุอันตราย แต่ขอเวลาพิจารณาข้อมูลให้รอบคอบ

จากกรณีที่มีภาคสังคมเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แก้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยให้เพิ่มน้ำมันทอดซ้ำ เข้าไปเป็นวัตถุอันตรายด้วย เนื่องจากพบว่าในน้ำมันทอดซ้ำจะมีสารอันตราย คือ สารโพลาห์ (Polar compounds) เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons ; PAHs) เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำนั้น

ล่าสุด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กล่าวว่า ตามความจริงแล้ว หน่วยงานหลักที่ดูแล พ.ร.บ.วัตถุอันตราย คือ กระทรวงอุตสาหกรรม อย.เป็นเพียงส่วนประกอบของหน่วยงานที่นำ พ.ร.บ.นี้ไปบังคับใช้ ซึ่งทาง อย.จะดูเฉพาะในส่วนสิ่งที่ใช้ในบ้านเท่านั้น อาทิ พวกน้ำยาทำความสะอาด แต่หากเป็นวัตถุอันตรายในภาคอุตสาหกรรม อย.ไม่มีอำนาจดูแล ซึ่งตนเข้าใจว่าการที่มีผู้เสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวเพราะเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายใดดูแลเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ และต้องการให้ทาง อย.เป็นเจ้าภาพในการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ดี หากมีการเสนอเรื่องมายัง อย.ทาง อย.ก็พร้อมที่จะนำไปพิจารณา แต่การพิจารณาเรื่องนี้ จะต้องมีการดูอย่างรอบคอบ ต้องดูความหมายของวัตถุอันตราย ที่สำคัญ ต้องพิจารณาด้วยว่าหากจัดน้ำทันทอดซ้ำเป็นวัตถุอันตรายจะสามารถควบคุมได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากจะดำเนินการในเรื่องนี้จริงๆ คงต้องมีการหารือกันอีกหลายครั้ง เพื่อดูความเหมาะสม

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการนำน้ำมันทอดซ้ำไปฟอกสีและแบ่งขายเป็นถุงๆ นั้น ถือว่ามีความผิด เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก เข้าข่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท อย่างไรก็ตาม การแบ่งขายน้ำมันพืชเป็นถุงนั้น มักจะพบในช่วงที่น้ำมันพืชขาดตลาดเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น