xs
xsm
sm
md
lg

“ย่ำข่าง” การนวดทางเลือก แก้ปวดเมื่อยฉบับล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ่อหมอเมืองใช้เท้าที่จุ่มน้ำไพลเหยียบไปบนข่าง เพื่อให้ความร้อนที่ได้รักษาอาการปวด
โดย กมลรัตน์ อู่อรุณ

นอกจากเมืองไทยจะมีชื่อเสียงด้านการนวดน้ำมัน นวดแผนโบราณ นวดไทย นวดบำบัด ที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับแล้ว ยังมีภูมิปัญญาแบบล้านนา ทางภาคเหนือ ที่เรียกว่า “ย่ำข่าง” ซึ่งนวดด้วยการใช้เท้าและความร้อน ที่สามารถนวดรักษาโรคได้ผลดีไม่แพ้นวดแบบอื่น โดยศูนย์บริการสุขภาพบ้านไร่กองขิง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้อนุรักษ์วิธีการรักษาอาการปวดเมื่อยแบบดั้งเดิมนี้ไว้อย่างดี
น้ำมันงา น้ำไพล เตาไฟและข่าง อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษา

สมศักดิ์ อินทะชัย
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เล่าว่า การย่ำข่างเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาที่ศูนย์ก็เนื่องมาจากผลการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2546 ถึงการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชน พบว่า คนในชุมชนมีโรคภัยไข้เจ็บในอัตราที่สูง เช่นความดัน เบาหวาน โรคเกาต์ และโรคกระเพาะอาหาร โดยต้องพึ่งสารเคมีในการรักษาเป็นหลัก จึงเกิดศูนย์นี้ขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยใช้สมุนไพรในการรักษา พร้อมทั้งให้บริการประคบสมุนไพร อบ รวมไปถึงการย่ำข่างและรับซื้อสมุนไพรของคนในชุมชนด้วย
ไพล หรือที่คนล้านนาเรียกว่า ปูเลย สมุนไพรที่ใช้ในการรักษา
สงวน บัวอ่อน อายุ 50 ปี พ่อหมอเมืองหนึ่งเดียวในชุมชนบ้านไร่กองขิง ที่สืบทอดการรักษาอาการปวดด้วยวิธีย่ำข่าง เล่าถึงการรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบล้านนา ว่า การย่ำข่างมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เป็นการนวดรักษาอาการปวดตามร่างกายแบบล้านนาโบราณโดยใช้เท้า ความร้อนและสมุนไพร ข่าง คือ เหล็กหล่อชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบผาลไถที่ใช้สำหรับไถนา ขนาดประมาณ 8 x 6 นิ้ว ปลายแหลม ภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่า ใบข่าง เชื่อกันว่า ข่าง มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวข่างมีแร่ธาตุบางชนิดที่เชื่อว่าเป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้

“ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวล้านนา วิธีการรักษา จะใช้เท้าชุบน้ำยา คือ สมุนไพรปูเลย หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ไพลนำมาบดแล้วผสมกับน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม และน้ำมันงา แล้วย่ำบนข่างที่เผาไฟร้อนจนเป็นสีแดง จากนั้นจึงย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด กดด้วยความร้อนใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 นาที หรือแล้วแต่อาการของโรค” สงวน กล่าว

แต่การเหยียบไม่ใช่ เหยียบไปเรื่อยๆ แต่ต้องเหยียบโดยการใช้ปลายเท้าและส้นเท้าสลับกัน ขึ้นอยู่กับว่าส่วนไหนควรจะใช้น้ำหนักมากหรือน้อย เช่น ถ้าเป็นส่วนของฝ่าเท้าที่มีอาการเส้นยืดจะใช้นิ้วโป่งเท้ากดเส้นค้างไว้และปล่อยทำเช่นนี้สลับกันไป แต่ถ้าเป็นบริเวณขา ต้นขาสามารถใช้ทั้งส้นเท้าและนิ้วเท้าได้ โดยจะสามารถรักษาอาการปวดได้หลายโรค เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูกซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของธาตุ อาการชาที่มักเกิดที่มือ เท้า แขน ขา เอว ซึ่งเกิดจากเลือดลมในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เส้นเลือดตีบ รวมไปถึงอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาตั้งแต่ 20 นาที ไปจนถึง 3 ชั่วโมง และต้องรักษาเป็นประจำ ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี

“คนในชุมชนสนใจ เพราะนอกจากจะไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องกินยาแล้ว ยังประหยัดค่ารักษาด้วย แต่ที่นี่มีหมอเมืองแค่คนเดียว วันหนึ่งนวดได้แค่ 2-3 คนเท่านั้น แต่จะมาให้บริการทุกวัน ที่ศูนย์บริการสุขภาพบ้านไร่กองขิง”หมอเมืองย้ำ
พ่อหมอเมือง สงวน บัวอ่อน
นอกจากย่ำข่างจะช่วยฟื้นสุขภาพของคนในชุมชนแข็งแรงและปราศจากการใช้สารเคมีแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์คนในชุมชนอีกทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น