xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวแอปฯมือถือใหม่ป้องกัน “สาวอินเดีย” ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอปพลิเคชั่นมือถือใหม่ ไฟต์ แบ็ค ซึ่งพัฒนาโดยองค์กรวายโพลล์ มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องผู้หญิงในอินเดียจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้ใช้จะสามารถกดปุ่มเดียวเพื่อส่งข้อความเอสโอเอสไปยังครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้ทันที
เอเอฟพี - เมืองหลวงของอินเดียถูกใช้เป็นสถานที่เปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือใหม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้หญิงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเปิดโอกาสให้พวกเธอสามารถส่งข้อความไปยังเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัวได้ทันทีที่รู้สึกว่าตกอยู่ในความเสี่ยง วันนี้ (21)

แอปพลิเคชัน “ไฟต์ แบ็ค” (Fight Back) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร วายโพลล์ จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถส่งข้อความเอสโอเอสไปยังผู้รับได้โดยกดเพียงปุ่มเดียว

เมื่อระบบเอสโอเอสเริ่มทำงาน ผู้รับข้อความจะสามารถระบุพิกัดของเจ้าของมือถือได้ด้วยจีพีเอส และมาช่วยเหลือเธอได้ทันเวลา

ชเวตา ปันจ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรวายโพลล์ ระบุว่า “ฉันเติบโตขึ้นในกรุงนิวเดลี ที่นี่เป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย และยิ่งแย่ลงทุกวัน ผู้หญิงอย่างเราๆเดินไปไหนมาไหนก็รู้สึกไม่สบายใจ”

“ฉันรังเกียจความรุนแรงที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิง จึงอยากทำอะไรบางอย่าง”

ปัจจุบัน นิวเดลี ติดอันดับเมืองอันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงในอินเดีย โดยสถิติของตำรวจเผยว่า ในปี 2010 เกิดคดีข่มขืนถึง 489 ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 459 ครั้งเมื่อปี 2009

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของอินเดียเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีงานทำมากขึ้น ทว่าหลายคนยังกลัวถูกลวนลามหรือทำร้าย ระหว่างที่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน

ผลสำรวจโดยฝ่ายบริหารกรุงนิวเดลี, องค์การสหประชาชาติ และกลุ่มปกป้องสิทธิสตรี จาโกรี เมื่อปี 2010 พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 45 จะหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านคนเดียวยามดึก ขณะที่อีกร้อยละ 65 กลัวการโดยสารรถสาธารณะเพียงลำพัง

ผลสำรวจยังชี้ว่า ตำรวจอินเดียต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการปกป้องสิทธิสตรี

ฮินดอล เสนคุปตะ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง วายโพลล์ ระบุว่า ผู้ใช้สามารถตั้งเบอร์โทรศัพท์ของตำรวจนิวเดลีไว้ในระบบเอสโอเอสก็ได้ แต่จุดประสงค์หลักขององค์กร คือ ต้องการให้พวกเธอแจ้งไปยังเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัวมากกว่า

“ชาวอินเดียจะพึ่งพาคนใกล้ชิดและบุคคลซึ่งเป็นที่รักมากกว่า เพราะเราไม่ศรัทธาว่าระบบรักษาความปลอดภัยของบ้านเมืองจะช่วยเราได้จริง” เสนคุปตะ เผย

“เมื่อคุณส่งเอสโอเอสไป เพื่อนๆและครอบครัวของคุณจะสามารถแจ้งตำรวจ และกดดันให้พวกเขาเข้ามาจัดการปัญหาได้”

ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ตำรวจอินเดียจะตอบสนองอย่างไรต่อคำร้องเรียนที่ส่งผ่านระบบ ไฟต์ แบ็ค ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับโทรศัพท์มือถือ โนเกีย, ซัมซุง, เอชทีซี และ แบล็กเบอร์รี

จากการสอบถามตำรวจหลายคนพบว่า พวกเขายังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีแอปพลิเคชันเช่นนี้อยู่

เสนคุปตะ ยอมรับว่า ระบบ ไฟต์ แบ็ค จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการทำงานของตำรวจ และความเอาจริงเอาจังในการรับเรื่องร้องเรียนของพวกเขา

แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ในราคาเพียง 100 รูปี (60 บาท) และสามารถใช้งานได้นาน 1 ปี ปัจจุบันมีเพียงเวอร์ชันภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ผู้ผลิตมีแผนจะออกเวอร์ชันภาษาถิ่นอื่นๆ ในอินเดีย และขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมอีก 9 เมืองใหญ่ภายในสิ้นปี 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น