xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ไทยนำเข้าแร่ใยหินเพิ่ม สวนมติ ครม.ให้ยกเลิกใช้‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แร่ใยหิน
แฉ!! ไทยนำเข้าแร่ใยหินเพิ่ม ราคาลด สวนมติ ครม.ยกเลิกใช้ ผลิต แร่ใยหิน วอน รมต.อุตสาหกรรม คนใหม่ เร่ง ยกเลิก  พร้อมเตือนประชาชน ระวังมะเร็งปอด นักวิชาการด้านวิศวกรรม แย้งสินค้าไม่มีใยหิน ทนทาน ผลกระทบ  4-5 แสนล้าน เว่อร์เกินจริง ชี้ไทย มีโอกาสเป็นผู้นำผลิตในภูมิภาค

รศ.ดร วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)  กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าและการผลิตแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่มีมาตรการยกเลิกการผลิตและนำเข้า ว่า จากข้อมูลการนำเข้า พบว่า ปี 2554 มีปริมาณการนำเข้าแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) ปริมาณ 81,411 ตัน มากกกว่า ปี 2553 จำนวน 79,250 ตัน  และยังพบว่าราคาแร่ใยหินต่อตันลดลง จากปี 2553 อยู่ที่ 14,150 บาทต่อตัน ลดลงเหลือเฉลี่ย 13,660 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการนำเข้าทางอ้อม ทั้งๆ ที่ทางภาครัฐมีนโยบายรณรงค์ให้ควบคุม และยกเลิกการใช้ แร่ใยหิน ตามมติครม เมื่อเดือนเมษายน 2554  ที่ผ่านมา

รศ.ดร วิทยา  กล่าวว่า ข้อเสนอเบื้องต้น คือ อยากให้คณะทำงานคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ติดตามข้อเสนอที่ ครม.ได้มีมติยกเลิกการนำเข้า และการผลิตแร่ใยหิน  ซึ่งในเชิงปฏิบัติไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ทำให้ปริมาณการนำเข้ามากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนความล้มเหลวในการควบคุมอันตรายที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งหากประชาชนใช้วัสดุอุปกรณ์ ที่มีแร่ใยหินอย่างไม่ระวัง เช่น การตัด เลื่อย กระเบื้องและวัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินที่อาจมีการฟุ้งกระจายของอณุภาคแร่ใยหิน รวมทั้งการรื้อถอน ทุบ ทำลาย ที่ล้วนส่งผลให้เกิดโอกาสจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งปอดได้ทั้งสิ้น

“ขอเรียกร้องต่อ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่านใหม่ ซึ่งมาจากภาควิชาการ เคยเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิจารณาเรื่องการยกเลิกการนำเข้าและการผลิตแร่ใยหิน ตามที่ได้มีการนำเสนอจากสังคมและ ครม.มีมติ ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว” รศ.ดร วิทยา  กล่าว

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  กล่าวว่า จากการทบทวนการวิจัยทั่วโลก ยังไม่พบงานวิจัยที่แสดงผลเปรียบเทียบความคงทนระหว่างกระเบื้องที่มี และไม่มีแร่ใยหิน นอกจากสมมติฐาน แต่ในทางปฏิบัติกระเบื้องที่ไม่มีใยหินมีความคงทนตามมาตรฐานสินค้าที่กำหนด และคงทนเกินการใช้งานจริงอยู่แล้ว เห็นได้จากในประเทศยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี ที่เลิกใช้กระเบื้องที่มีแร่ใยหิน ก็พิสูจน์เห็นว่า กระเบื้องที่ใม่มีแร่ใยหินก็มีความคงทนดี สามารถทนทานต่อสภาวะอากาศที่มีฝนตกเกือบทั้งปี และรับแรงกดทับจากหิมะได้เป็นระยะเวลานานๆ และมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยมากกว่าข้อสมมติฐาน ว่า กระเบื้องที่ไม่มีแร่ใยหินจะมีอายุการใช้งานสั้น

ดร.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางราย ศึกษาว่า จะมีการใช้จ่ายเพิ่มอีก 4-5 แสนล้านบาท อาจต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เพราะจากการคำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุใหม่ ว่า มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 5-10% จากราคาตลาด หากคำนวณที่ตัวเลข 4-5 แสนบาท จะหมายถึงมีการใช้แร่ใยหินในปัจจุบันถึง 5-10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินจริง สำหรับการผลิตสินค้าทดแทน และการส่งออกในอนาคต ประเทศไทย ถือว่ามีโอกาสเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมได้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมสูงในแง่ผู้ผลิต ที่พร้อมรองรับผลิตสินค้าดังกล่าวรองรับตลาดอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างกำลังศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น