xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เพิ่มมาตรการตรวจสอบฯ คุมคุณภาพ “เป็ด-ไก่” รับตรุษจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย แสงชัย สีมาขจร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว กรุงเทพมหานคร ห่วงใย ซื้อเป็ดไก่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน และได้แจกถุงต้นแบบกว่า 100000 ใบให้กับผู้ประกอบการชำแหละเนื้อสัตว์ปีกรายย่อยในกรงเทพฯซึ่งแต่ละถุงมีรหัสกำกับไว้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบถึงที่มาที่ไป ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
กทม.เพิ่มมาตรการควบคุม เป็ด-ไก่ รับตรุษจีน จัดระบบตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ

วันนี้ (17 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายแสงชัย สีมาขจร ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานแถลงข่าว “กรุงเทพมหานครห่วงใย ซื้อเป็ดไก่ปลอดภัยในช่วงตรุษจีน" โดย นายแสงชัย กล่าวว่า ขณะนี้ กรุงเทพฯ มีโรงชำแหละสัตว์ปีกทั้งหมด 34 แห่ง โดยมีกำลังในการผลิตเนื้อสัตว์ปีกปีละ 400,000 ต่อวัน และมีโรงฆ่าสัตว์รายใหญ่จำนวน 2 แห่ง มีผู้ประกอบการรายย่อย 32 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีกำลังในการผลิตเนื้อสัตว์ปีกวันละ 200 ตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่รับเนื้อสัตว์ปีกมาจากโรงฆ่าสัตว์ หรือโรงชำแหละจากพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถระบุแหล่งที่ผลิตเนื้อสัตว์ปีกได้ทำให้มารตรการตรวจเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและโรคอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำได้ยาก ดังนั้น สำนักอนามัยจึงได้ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับของสถานที่ชำแหละเนื้อสัตว์ปีก เพื่อควบคุมโรคระบาด และตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์ปีกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมป้องกันการบริโภคสัตว์ปีกที่จะส่งผลกระทบคุณภาพชีวิต เช่น โรคไข้หวัดนก หรือสารตกค้างอื่นๆ ในเนื้อสัตว์

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า กทม.ได้เพิ่มมาตรการตรวจเฝ้าระวังไข้หวัดนกเชิงรุก โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบระบบการผลิตให้ถูกสุขลักษณะ และสุ่มตรวจโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมีชีวิต ในโรงชำแหละสัตว์ปีกและสถานที่จำหน่ายสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้บริโภคมีความปลอดภัย สำหรับในเทศกาลตรุษจีนนี้จะมีการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ กทม.จึงจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ปีกสำหรับผู้บริโภคและจัดทำถุงต้นแบบกว่า 100,000 ใบ ให้กับผู้ประกอบการชำแหละเนื้อสัตว์ปีกรายย่อยในกรุงเทพฯ และตัวแทนจำหน่ายสัตว์ปีก เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชำแหละเนื้อสัตว์ปีก ได้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกให้ถูกหลักอนามัย และป้องกันโรคปนเปื้อนโดยให้ผู้ประกอบการนำเนื้อสัตว์ปีกที่ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ไปตรวจสอบใส่ในถุงพลาสติกที่ กทม. ได้จัดทำขึ้น ซึ่งแต่ละถุงจะมีรหัสที่กำกับไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ พร้อมระบุวิธีการตรวจสอบย้อนข้อมูล ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ www.thaitrace.net หรือ www.vphbma.com และระบบส่งข้อความเอสเอ็มเอส บนโทรศัพท์ โดยพิมพ์ TM เว้นวรรคตามด้วยรหัสที่ใช้ตรวจสอบ ส่งมาที่ 4545111 ซึ่งระบบจะส่งข้อความกลับและแจ้งถึงแหล่งผลิตภายใน 20 นาที

“กทม.จะเร่งผลักดันและสร้างมาตรการความปลอดภัยด้านเนื้อสัตว์ให้กับผู้บริโภคต่อไป เพราะในปีนี้จะเน้นเฝ้าระวังด้านสัตว์ปีก จึงอาจจะมีโครงการอื่นๆ ตามมาด้วย” นายแสงชัย กล่าวต่อว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น