นายกฯ ประธานยกเสาพระเมรุ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ขอพรครูช่างให้ทำงานราบรื่น กรมศิลป์เร่งประกอบโครงสร้าง สถาปัตยกรรมทรงยอดปราสาท ระบุ 9 เมษา พระราชทานเพลิงพระศพ
วันนี้ (16 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้านทิศใต้ ได้มีการจัดพิธียกเสาพระเมรุ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยกำหนดวันพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ท่านผู้หญิง บุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศฯ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังมีข้าราชการระดับสูง คณะช่าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีบวงสรวงจำนวนมาก
ทั้งนี้ พิธีเริ่มเวลา 10.15 น. พล.ต.อ.โกวิท เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และพระสงฆ์ให้ศีลเจริญพระพุทธมนต์ ในเวลา 11.30 น. พล.ต.อ.โกวิท กล่าวรายงานการจัดสร้างพระเมรุ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากนั้นพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ หัวหน้าพราหมณ์เทวสถาน
โบสถ์พราหมณ์ เริ่มประกอบพิธีพราหมณ์ โดยนายกรัฐมนตรีจุดธูปเทียนบวงสรวง พราหมณ์อ่านโองการบวงสรวง ยกเสาพระเมรุ จนถึงเวลา 11.59 ซึ่งเป็นมหัทธโนฤกษ์ พระอาทิตย์อยู่ศูนย์กลางขอบฟ้า เรียกว่า สนธยา ซึ่งเป็นฤกษ์ยกเสาพระเมรุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำพิธีปิดทอง ผูกผ้าที่เสาพระเมรุ ถือสายสูตร และยกเสาพระเมรุขึ้นตั้ง จากนั้นพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ รดน้ำเทพมนต์ และเจิมเสา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา คณะนาฏศิลป์ กรมศิลปากร รำบวงสรวง และโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลของการสร้างพระเมรุ
นางสุกุมล กล่าวว่า การบวงสรวงครั้งนี้เป็นการไหว้ครูช่าง คือ พระวิษณุกรรม พระพิฆเนศ และครูฤาษีที่ถ่ายทอดการสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์ทุกประเภท การก่อสร้าง การตกแต่ง และการปั้นรูป ดังนั้นการสร้างพระเมรุ เป็นการระดมช่างศิลป์ มาอยู่ที่นี่ทั้งหมด และช่างจะต้องขอพรจากบรมครูเพื่อให้การสร้างพระเมรุ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีความประณีตวิจิตรศิลป์เหมือนดั่งเป็นวิมาน ส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรค์อย่างสมพระเกียรติ
อย่างไรก็ดี การจัดสร้างพระเมรุครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคการก่อสร้างเพื่อประหยัดเวลา ใช้วัสดุทดแทนเพื่อลดทอนการใช้ไม้ ซึ่งเป็ีนวัสดุหายาก เสาพระเมรุที่ใช้ประกอบยกเสาในครังนี้ จึงไม่ใช่เสาต้นแรกของการก่อสร้่าง และไม่ใช่เสาไม้ แต่สาระสำคัญของพิธียังคงสืบทอด วัตถุประสงค์เดิม ในการประกอบพิธีมงคล ทั้งพุทธและพราหมณ์ เพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขออนุญาตการก่อสร้างพระเมรุเพื่อความเป็นสิริมงคล สำเร็จลุล่วงของงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจากเสร็จพิธียกเสาพระเมรุแล้ว ทางกรมศิลปากร โดยวิศวกร สถาปัตยกรรม จะได้ดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบพระเมรุทรงยอดปราสาท ที่พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม ส่วนการบูรณะเวชยันตราชรถ ราชรถน้อย พระยานมาศสามลำคาน เกรินบันไดนาค ตามที่กรมสรรพาวุธทหารบก ช่างสิบหมู่ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ได้ดำเนินการบูรณะให้อยู่ในสภาพพร้อมออกพระราชพิธีอย่างสมพระเกียรตินั้นก็จะเสร็จตามแผนงานที่วางไว้เดือนกุมภาพันธ์ ก่อนกำหนดการงานพระราชทานเพลิงพระศพอย่างแน่นอน
ภายหลังจากงานพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุจนถึงวันที่ 17เมษายน2555 และจะมีการจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สมเด็จเจ้าฟ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ที่ พระราชวังสนามจันทน์