xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าอาวาสวัดสวนพลู ยันรื้อทิ้งหมู่กุฏิไม้โบราณ อ้างปลวกกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าอาวาส “วัดสวนพลู” ยันรื้อทิ้งหมู่กุฏิไม้โบราณ อ้างปลวกกิน ใช้งบบูรณะสูง จ้องรื้อทั้งเตรียมสร้างอาคารใหม่หมด ด้านนายกสมาคมอนุรักษ์ฯ ค้านรื้อทิ้ง ระบุ ควรอนุรักษ์ เพราะมีคุณค่าทางจิตใจ จี้ กรมศิลป์ สำนักพุทธฯช่วยดูแล แย้มมีวัดบางแห่ง สร้างวัดสไตล์โรงแรมให้นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวพัก เพื่อหารายได้เข้าวัด

จากกรณีวัดสวนพลู มีการรื้ออาคารไม้โบราณสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 อายุกว่า 70 ปีทิ้ง พระราชวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดสวนพลู เขตบางรัก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางวัดมีโครงการปรับแผนผังเสนาสนะใหม่ทั้งหมด โดยจะมีการรื้ออาคารไม้โบราณทั้งหมด เนื่องจากตัวอาคารสร้างจากไม้ตะแบก ปลวกจึงกิน ทางวัดได้ทำการบูรณะหลายครั้งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทางวัดไม่มีงบประมาณในการดูแล ดังนั้น จึงจะรื้อทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่ ยอมรับว่า เสียดาย แต่ต้องตัดใจรื้อทิ้ง แม้ว่าอาคารเหล่านี้จะได้รับรางวังอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม และทางวัดคงไม่ประสานกรมศิลปากรให้เข้ามาช่วยดูแล เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้

ด้าน นางจุฬา สุดบรรทัด นายกสมาคมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หมู่กุฏิที่วัดสวนพลูนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545 รางวัลดังกล่วเป็นเครื่องการันตี ว่า สมควรอนุรักษ์ไม่ควรรื้อ ไม่ควรทำลาย อย่างไรก็ดี ตนเข้าใจที่ตั้งวัดอยู่ในทำเลทอง ย่านธุรกิจ ทางวัดอยากที่จะสร้างอะไรให้ดูดี ดูทันสมัย เนื่องจากมีหลายวัดในพื้นที่ธุรกิจ ที่จะทำให้วัดเป็นทำเลทอง สร้างวัดในรูปแบบโรงแรม ให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้มาพัก เพื่อหารายได้เข้าวัด ซึ่งเป็นความคิดไม่ถูกต้อง ซึ่งทุกวันนี้วัดพยายามสร้างศาสนวัตถุ แต่ไม่หันมาสร้างคุณงามความดีด้านจิตใจ ดังนั้น กรมศิลปากร กรมการศาสนา (ศน.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ควรเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย

“ไม่อยากให้ยึดว่า อาคารสร้างมากี่ปี อยากให้มองคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสถาปัตยกรรม มีบางอาคารสร้างเพียงวันเดียว แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ก็ถือเป็นอาคารสำคัญ ส่วนหมู่กุฏิวัดสวนพลู เป็นอาคารไม้แบบบ้านขนมปังขิง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแบบบ้านวิกตอเรียในประเทศอังกฤษ ถือว่า มีความสำคัญในด้านสถาปัตยกรรมและเป็นเอกลักษณ์ของวัด หากมีการรื้อทิ้งก็น่าเสียดาย อยากให้ประชาชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้าไปดูแลด้วย” นางจุฬา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น