“วิทยา” แนะประชาชนกิน อาหารฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย ยึดหลัก “ร้อน สุก สะอาด” กินไม่ระวังเสี่ยงป่วยรับปีมังกร ระบุปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก ปูทะเล มะละกอดิบ ผักดิบแกล้มฯลฯ เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง พร้อมเตือน 6 เมนู อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยๆ เช่นหอยแมลงภู่นึ่ง ส้มตำฯลฯ
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประชาชนมักปรุงอาหารหรือสั่งซื้อจากร้านอาหารมาเลี้ยงเฉลิมฉลอง หรือออกไปรับประทานอาหารมื้อใหญ่นอกบ้าน ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องความสะอาด ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกคือการปรุงอาหารให้สุก ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ร้อนคือการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันทีหรือสุกใหม่ๆ อาหารที่เหลือให้เก็บใส่กล่องหรือถุง ก่อนรับประทานต้องอุ่นให้เดือด
สะอาดคือการเลือกอาหารที่มีขบวนการผลิตที่ปลอดภัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ส้วมทุกครั้ง ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารใส่ปาก ใช้ช้อนกลางตักอาหาร ดูแลครัวและอุปกรณ์ในการปรุงอาหารให้สะอาด แยกมีด เขียงระหว่างอาหารดิบและสุก ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง และขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิทและมีเครื่องหมายอย.รับรอง ส่วนน้ำแข็งควรเลือกชนิดบรรจุถุงที่มีเครื่องหมาย อย. เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วง
ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในงานเลี้ยงส่วนใหญ่ อาหารจะเป็นประเภทขนมจีน แกงกะทิ อาหารทะเล ยำต่างๆ ซึ่งเส้นขนมจีนที่ทำจากแป้งหมักมักจะเสียง่าย ไม่ควรทิ้งค้างคืน ก่อนรับประทานควรนำมานึ่งด้วยความร้อน แกงหรืออาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ควรกินเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรเก็บไว้ค้างคืนเพราะจะบูดเสียง่าย ส่วนผักสดที่กินกับขนมจีนต้องล้างให้สะอาด อาหารจำพวกยำต่างๆ ขอให้ใช้วัตถุดิบที่สด สะอาด นำเนื้อสัตว์มาลวกให้สุกก่อนนำมายำ โดยเฉพาะอาหารทะเล ไม่ควรกินแบบลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก
ส่วนประเภทอาหารถุง อาหารกล่อง หรืออาหารห่อพร้อมบริโภค ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุง สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมทุกฤดูกาล ขอให้ระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะวัตถุดิบหลายอย่างที่นำมาปรุงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง อาทิ ปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก ปูทะเล มะละกอดิบ ผักดิบแกล้ม พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้าง รวมทั้งตัวแม่ค้าที่ไม่ใส่ใจความสะอาดและขาดสุขนิสัยที่ดี อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ควรนำอาหารอื่นไปแช่รวมในถังน้ำแข็งที่ใช้ใส่เครื่องดื่ม เพราะจะทำให้น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคได้
สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้พ่อแม่ดูแลเรื่องการกินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ และมักหยิบจับอาหารหรือสิ่งของต่างๆเข้าปาก จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ควรให้รับประทานอาหารที่ปรุงทันที ไม่ควรเก็บไว้ค้างมื้อ
ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาพบว่าเมนูอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยๆ มี 6 อย่าง ได้แก่ 1.อาหารจานด่วน อาหารกล่อง เช่นข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ 2.อาหารและขนมที่มีกะทิผสม เช่นแกงกะทิ สาคู ลอดช่องน้ำกะทิ 3.อาหารทะเลสด หอยแมลงภู่นึ่ง ไข่แมงดาทะเลต้ม 4.อาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่นลาบดิบ พล่า ก้อย 5.ส้มตำและอาหารยำต่างๆ และ6.อาหารสำเร็จรูปต่างๆที่ปรุงขายข้างถนน ตลอดปี 2554 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 85,712 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคอุจจาระร่วง 1,225,249 ราย เสียชีวิต 53 ราย