xs
xsm
sm
md
lg

“วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์” นักรณรงค์หยุด “ธุรกิจเด็กขอทาน" /ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์”
โดย คุณวัตร ไพรภัทรกุล

“ขอทาน” หมายถึง ผู้ที่ขอเงินหรือสิ่งของเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ปัจจุบันการขอทานกลายเป็นกระบวนการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการค้าแรงงานและการค้าประเวณี โดยสาเหตุเกิดจากปัญหาความยากจนของพ่อแม่ จึงขายลูกตัวเองให้กับนายหน้า หรือแม้แต่กรณีลักพาตัวเด็กเพื่อที่จะนำเด็กเข้าสู่ “ธุรกิจเด็กขอทาน” ซึ่งเหยื่อของกระบวนการเหล่านี้มีตั้งแต่เด็กโตจนถึงเด็กทารกที่เพิ่งเกิดเพียงไม่กี่เดือน โดยไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะมีวิถีชีวิตอย่างไรและไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองต้องทำ?

วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ส่วนมากเด็กที่เข้ามาเป็นขอทานจะเป็นเด็กกัมพูชากว่า 80% เด็กไทย 10% ส่วนอีก 10% จะเป็นเด็กพม่า ลาว และจากที่อื่นๆ โดยขั้นตอนเริ่มจากนายหน้าจะเช่าเด็กมาประมาณ 5,000 บาท โดยมีตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 7 ขวบ สาเหตุที่ใช้เด็กอายุน้อยๆ เพื่อให้เกิดความน่าสงสาร หากอายุเกินกว่านี้ความน่าสงสารจะน้อยลง ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีทั้งเป็นขอทาน และในช่วงหลัง
จะเปลี่ยนเป็นการแสดงดนตรีและขายของต่างๆ เพื่อที่ตำรวจเห็นจะได้ไม่จับ แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือบางรายเข้าไปสู่การค้าประเวณีหรือก่ออาชญากรรม

“เด็กเหล่านี้ทำรายได้จากการขอทานประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท พ่อแม่เด็กได้ส่วนแบ่งประมาณ 2,000 บาท แต่ตัวเด็กเองจะได้เงินเพียง 5-10 บาทต่อวัน ซึ่งจากที่ได้ทำการสำรวจพบว่าเด็กขอทานจะพบมากในเมืองเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เพราะเป็นแหล่งรายได้ดี”

วิธนะพัฒน์ ระบุในส่วนของผู้ให้ที่ถูกเรียกร้องผ่านความน่าสงสารของเด็ก โดยหารู้ไม่ว่าเงินทุกบาทที่ให้เด็กที่เข้ามาขอหรือซื้อของจากเด็กที่เดินมาขายนั้น ทำให้ผู้ใจบุญเหล่านี้ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกระบวนการค้ามนุษย์ที่ทำให้เจ้าของที่ซื้อเด็กมานั้นรวยขึ้น ส่งเสริมให้นายหน้าค้าเด็กขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ให้กับพ่อแม่เด็กจนฝังรากลึกเกินแก้ไข ส่งผลให้กระบวนการค้ามนุษย์ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว วิธนะพัฒน์ กล่าวอีกว่า หากพบเห็นเด็กเหล่านี้อยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งมาที่มูลนิธิกระจกเงา ทางเราจะลงพื้นที่ตรวจสอบให้ โดยใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ในการเข้าไปตรวจสอบว่าเป็นพ่อแม่ของเด็กจริงหรือไม่ สามารถตรวจได้จากเอกสารหรือดีเอ็นเอ หากเป็นพ่อแม่เด็กจริงก็จะตักเตือนพ่อแม่ในกรณีที่เป็นเด็กไทยและอยู่ในช่วงหลัง 4 ทุ่ม แต่ถ้าไม่ใช่พ่อแม่เด็กก็จะถือเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งจะต้องเข้าไปคุ้มครองเด็ก หากเป็นเด็กต่างด้าวก็ต้องมีการส่งกลับหรือผลักดันออกนอกประเทศ แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือพ่อแม่ของเด็กต่างด้าวก็จะขายลูกของตัวเองกลับเข้ามาขอทานอีก เพราะพวกเขาคิดว่าวิธีการนี้คือแหล่งรายได้ที่ดี

“เด็กขอทานหรือเด็กขายของที่เป็นเด็กไทยส่วนมากจะเป็นความสมัครใจที่จะทำ เพราะปัญหาความยากจน จึงออกมาขายของช่วยเหลือพ่อแม่ในเวลาดึกๆ ตี 1 ตี 2 เราก็ไม่อยากจะแตะเรื่องนี้มาก แต่อยากให้พ่อแม่เด็กดูถึงความเหมาะสมในเรื่องของสุขภาพของเด็กในวัยนี้ที่จะต้องเจริญเติบโต และในเรื่องความอิสระตามวัยที่จะขาดไปด้วย” วิธนะพัฒน์ กล่าวเรื่องบทลงโทษ นอกจาก“ธุรกิจเด็กขอทาน” จะผิดกฏหมายอาญาแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ด้วย ซึ่งโทษจะรุนแรงกว่า ทั้งนี้ กฏหมายจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่? ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปที่จะช่วยทำให้กฏหมายบรรลุตามเจตนาที่ต้องการจะลดปัญหาการค้ามนุษย์ที่เห็นกันจนชินตาในสังคมไทย

หากพบเห็นเด็กขอทานหรือการค้ามนุษย์ กรุณาแจ้งที่ “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์” มูลนิธิกระจกเงา โทร. 02-941-4194-5 ต่อ 114 หรือ www.notforsale.in.th นอกจากนี้ยังแจ้งได้ทาง “ศูนย์ประชาบดี” สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ยังสามารถบริจาคเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพาคนหายกลับบ้าน ด้วยการโอนเงินเข้าชื่อบัญชี "กองทุนตามน้องกลับบ้าน" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นจูรี่ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 208-202378-3 หรือโทร 0-26427991-2
กำลังโหลดความคิดเห็น