มติ คกก.ควบคุมฯ ขอเงินผู้รับใบอนุญาต มอส.150 ล้านบาท จ้างอาจารย์-ใช้หนี้ ให้เวลาตัดสินใจ 3 เดือน ขู่หากไม่ให้ หรือสร้างความลำบากต่อการทำงาน จะชงให้ รมว.ศึกษาฯ พิจารณาสั่งปิด พร้อมอนุมัติจบหลักสูตร ป.บัณฑิต 40 ราย และสาขาอื่นๆ อีก 229 คน ด้าน “อัษฎางค์” ทวงคืนมหา’ลัยบริหารเอง เหตุเงินก้อนใหญ่ไม่มั่นใจ คกก.ควบคุมฯ จะใช้ได้มีประสิทธิภาพ รับเคยพบ “วรวัจน์” แต่ไม่เคยขอความช่วยเหลือพิเศษ
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) ในฐานะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (คกก.) ควบคุม มอส.ที่มี นายสมนึก พิมลเสถียร เป็นประธาน ว่า คกก.ควบคุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของ นางจรรยา แสวงการ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง มอส.พร้อมด้วย นายอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการบดี ที่ขอให้พิจารณายกเลิกการควบคุม ตามมาตรา 90 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ประธาน คกก.ควบคุมฯ สรุปรายละเอียดแผนการบริหารมหาวิทยาลัย พร้อมความเห็นของ คกก.ควบคุมฯ ที่ระบุว่า แผนบริหารมหาวิทยาลัยตามที่ผู้รับใบอนุญาตเสนอมาทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่เหมาะสมและยังไม่สามารถแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ จากนั้นจะรายงานต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม คกก.ควบคุมฯ ได้จะรายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ ถึงแนวทางแก้ปัญหา มอส.ด้วย คือ ผู้รับใบอนุญาตต้องให้ความร่วมมือกับ คกก.ควบคุมฯ เคร่งครัด ไม่แทรกแซงการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยและไม่ขัดขวางการดำเนินงานทั้งคกก.ควบคุมฯและผู้บริหารชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องให้ความร่วมมือจัดงบประมาณจำนวน 150 ล้านบาทเพื่อใช้ในการจัดจ้างคณาจารย์ที่มีคุณภาพเพิ่มจำนวน 200 คน และจัดการหนี้สินของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รมว.ศึกษาธิการ ว่าจะเห็นตามการเสนอของ คกก.ควบคุมฯ หรือไม่
“ผู้รับใบอนุญาตได้ยื่นข้อเสนอขอคืนมหาวิทยาลัยไปบริหารเอง หากต้องการให้จ่ายเงิน 150 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องระบบทะเบียน ระบบการเงิน และระบบการจัดการศึกษา อย่างไรก็ตามผู้รับใบอนุญาตมีเวลา 3 เดือนในการให้คำตอบแก่คกก.ควบคุมฯ ว่าจะจัดสรรงบประมาณมาหรือไม่ ทั้งนี้ หากได้รับเงินดังกล่าว คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหา มอส.ได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี แต่หากผู้รับใบอนุญาตไม่ตกลงให้เงินหรือมีการก่อกวนการทำงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ คกก.ควบคุมฯ ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะพิจารณาว่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับ มอส.ได้ และจะอาศัยมาตรา 91 ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เสนอรายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้สั่งปิดมหาวิทยาลัยทันที” รศ.ดร.กำจร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดี มอส.กล่าวว่า ที่ประชุม คกก.ควบคุมฯ ได้อนุมัติสำเร็จการศึกษาให้กับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู เพิ่มเติม จำนวน 40 คน ตามที่มีการเสนอขออนุมัติ 42 คน โดยผู้ที่ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการลงทะเบียนซ้ำซ้อน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร ป.บัณฑิต และหลักสูตรการบริหารการศึกษา ซึ่งขัดกับระเบียบของมหาวิทยาลัย ดังนั้นตนจึงขอให้ผู้ที่รู้ตัวว่าลงทะเบียนซ้ำซ้อน รีบมาติดต่อที่บัณฑิตวิทยาลัย เพื่อจะได้เลือกหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ทั้ง 2 หลักสูตร พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติสำเร็จการศึกษาให้กับนักศึกษาหลักสูตร พยาบาลศาสตร์บัณฑิต 4 คน และหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ แบ่งเป็น นักศึกษาเรียนในที่ตั้ง 36 คน นอกที่ตั้ง 39 คน สาขาการจัดการอุตสาหกรรม ในที่ตั้ง 23 คน นอกที่ตั้ง 8 คน สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในที่ตั้ง 5 คน นอกที่ตั้ง 3 คน และหลักสูตรบัญชีบัณฑิต ในที่ตั้ง 48 คน นอกที่ตั้ง 27 คน รวมผู้ที่ได้รับอนุมัติจบการศึกษาทั้งหมด 229 คน
นายอัษฎางค์ เปิดเผยว่า ทางผู้รับใบอนุญาตฯ ยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ คกก.ควบคุมฯ ทั้งหมด แต่ได้ยื่นข้อเสนอต้องการขอคืนมหาวิทยาลัยไปบริหารเอง เพราะเงินดังกล่าวจำนวนมากแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากให้ตนและผู้รับใบอนึญาตบริหารเองก็ยินดีหาก สกอ.จะทำหน้ากำกับดูแลการบริหารใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ส่วนกระแสข่าวว่าเรื่องความพยายามแทรกแซงเพื่อขอให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยเหลือ มอส.นั้น ตนไม่ทราบและคิดว่าไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ภายหลังนายวรวัจน์ ได้ขึ้นเป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการประสานขอเข้าพบ เพื่อขอรับทราบความคืบหน้ากรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้มีการร้องขอความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ