แพทย์เตือนหากสงสัย ว่าเป็นไข้เลือดออก อย่ากินยาแอสไพริน แนะดูแลตัวเองด้วยการป้องกันยุงจะดีกว่า หากกินยาลดไข้ไปแล้ว 2-3 วัน อาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำที่เริ่มลดลงแล้วในขณะนี้นั้น หลายฝ่ายยังกังวลกับปัญหาไข้เลือดออกอยู่ เนื่องจากน้ำท่วมขังมีลักษณะคล้ายกับสภาพที่เกิดขึ้นหลังฝนตก ถือเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของเหล่าเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นภัยร้ายต่อเรา อีกทั้งน้ำท่วมขังยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง โดยเฉพาะยุงลายทำให้ใครที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเสี่ยงเป็นโรค “ไข้เลือดออก” โดยเฉพาะเด็กอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที โดยในพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนที่แออัด เช่น ศูนย์ผู้อพยพ ถ้ายิ่งขาดสุขอนามัยที่ดีและขาดการควบคุมประชากรยุงที่มีประสิทธิภาพจะยิ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3-7 วัน และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ พบอาการชักได้ในเด็กเล็ก ซึ่งอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มักไม่มีอาการของหวัดชัดเจน มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และอาจพบเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วย และหากเข้าสู่ระยุรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการที่สังเกตได้คือ อาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และเบาลง มีความดันโลหิตต่ำ ถ้าหากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
“ที่น่าห่วง คือ คนไทยมักนิยมซื้อยาลดไข้เอง ซึ่งถ้าเป็นยาเบาๆ อย่างพาราเซตามอล ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะหากกินยาลดไข้ไปแล้ว 2-3 วัน อาการไม่ดีขึ้นก็ไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยบางคนไม่เข้าใจข้อมูลการกินยาก็มักจะเลือกซื้อตัวยาแอสไพรินที่มีความรุนแรง ซึ่งหากแพทย์ตรวจพบภายหลังว่า มีเชื้อไข้เลือดออกก็จะเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ คือ ทำให้มีอาการเลือดออกง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้สำหากมีคนใกล้ชิดป่วยเลือดออก แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสารน้ำที่แนะนำ ได้แก่ น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ นอกจากนี้ อยากแนะนำว่ายังต้องเน้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และการทาโลชั่นกันยุงจะดีกว่า รวมทั้งควรมีการเก็บขยะและจัดการสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลดให้เรียบร้อยด้วย” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
อนึ่ง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกนั้น ในประเทศไทย ปี 2554 จากรายงานของสำนักโรคติต่อนำโดยแมลงระบุว่า สถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 7 ธ.ค.พบผู้ป่วยจำนวน 62,643ราย เสียชีวิต 57ราย