xs
xsm
sm
md
lg

“สมส่วน บูรณพงษ์” คุณหมอ ผู้ปกป้องมรดกชาติ / คอลัมน์ ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมส่วน บูรณพงษ์
“สมส่วน บูรณพงษ์” คุณหมอ ผู้ปกป้องมรดกชาติ
โดย สุกัญญา แสงงาม

นอกเหนือจากหน้าที่รักษาผู้เจ็บป่วยให้หายเป็นปกติแล้ว เขายังปลุกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาปกป้องสมบัติชาติ ไม่ให้คนเห็นแก่ตัวมาขุดสมบัติของบรรพบุรุษไปแลกเศษเงินเพียงเล็กๆ น้อยๆ

สมส่วน บูรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยขุนราม และในฐานะประธานชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี บ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี บอกพร้อมกับฉายภาพให้ฟังว่า 10 กว่าปีก่อนมีนักล่าสมบัติเข้ามาตีสนิทกับชาวบ้านจนชาวบ้านไว้วางใจ โดยไม่มีรู้ว่าเป็นนักขุดของเก่าเข้ามาลักลอบเข้ามาขุดโบราณวัตถุ หม้อ ภาชนะต่างๆ ขวานหิน ฯลฯ นำไปขายอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากนัก

“ผม แกนนำชุมชน และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ทนพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของนักขุดสมบัติไม่ไว้ จึงลุกขึ้นมากระตุ้นความรู้สึกชาวบ้านเห็นความสำคัญแล้วรู้สึกหวงแหนสมบัติของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาจับกุมนักล่าสมบัติ สามารถยึดของกลาง ซึ่งมีโครงกระดูกมนุษย์โบราณ โบราณวัตถุจำนวนมาก” สมส่วน เล่า
กิจกรรมในชมรมฯ
หลังจากนั้น ชมรมอนุรักษ์ศิลปะโบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้านสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ลงภาคสนาม ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณวัดโป่งมะนาวนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ 3,000-3,500 ปีมาแล้ว จากโบราณวัตถุและข้อมูลหลักฐานที่พบ ได้แก่ ขวาน หินขัด เครื่องประดับ แผ่นกลมแบนเจาะรูตรงกลางทำจากกระดองส่วนอกของเต่าทะเล ลูกปัดและกำไลข้อมือทำจากหินอ่อนสีขาวและปัดกำไลข้อมือทำจากเปลือกหอยทะเล ส่วนโครงกระดูกคนล้วนมีการฝังสิ่งของไว้ในหลุมฝังศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา กำไลแหวนสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี นอกจากนี้ ยังพบแม่พิมพ์ทำด้วยดินเผาสำหรับหล่อหัวลูกศรโลหะ ลูกกระสุนดินเผาด้วย หลักฐานเหล่านี้ทำให้รู้ว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนใหญ่

แล้วดำเนินการขุดแต่งผนังหลุมเดิมที่ชาวบ้านได้ลักลอบขุดไว้ก่อนแล้ว รวมถึงที่ขุดพบเพิ่ม และได้ทำทะเบียนโบราณวัตถุ จัด จำแนกประเภทของโบราณวัตถุ และจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบ ในบริเวณใต้ศาลาการเปรียญวัดโป่งมะนาว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านโบราณคดี

สมส่วน เล่าความรู้สึกให้ฟังว่า ในสายตาผมมองว่าถ้าพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้ยังไม่เพียงพอต้อง ผลักดันให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ด้วยการอบรมเป็นมัคคุเทศก์น้อย ช่วยอธิบายให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ที่เดินทางมาเที่ยวมาศึกษาประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพื่อให้มัคคุเทศก์น้อยและคนในชุมชนรู้สึกภาคภูมิใจ ขณะเดียวกัน ช่วยกันดูแลมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ไว้ ไม่ให้ใครมาขโมยไปขายอีก

“ช่วงวันหยุด ถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินผมจะทำหน้าที่หมอ หากไม่มีผมจะผันตัวเองมาทำหน้าที่บริหาร เป็นวิทยากร มัคคุเทศก์ ร่วมกับมัคคุเทศก์น้อย พานักท่องเที่ยว ชมสถานที่พร้อมอธิบายประวัติความเป็นมา ตลอดจนความสำคัญในเบื้องหน้าภายในพิพิธภัณฑ์บ้านโป่งมะนาว อย่างละเอียด” สมส่วน เล่าต่อว่า เดือนธันวาคม 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาศึกษาแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์นานาชนิด อาหารท้องถิ่น มาจำหน่าย หวังให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แล้วไม่ต้องออกจากท้องถิ่นไปขายแรงงาน

การสวมหมวกหลายใบของ “สมส่วน” โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน จนได้รับรางวัลมากมายจากหลายหน่วยงาน ครูภูมิปัญญาไทย จากกระทรวงศึกษาธิการ คนดีศรีลพบุรี คนดีศรีวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลแทนคุณแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น