สสส.เตรียม 3 โครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย สนับสนุนทั้งชุมชนและมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ให้มาขอทุนทำโครงการเพื่อฟื้นฟูชุมชนในทุกๆ ด้าน เตรียมสร้างเครือข่ายอาสาสมัครนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชน ลดความรุนแรงของภัยพิบัติในอนาคต
จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในพื้นที่ 26 จังหวัด 147 อำเภอ 1,132 ตำบล 8,319 หมู่บ้าน 718,607 ครัวเรือน ประชาชน 2,110,152 คน (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันที่ 2 พ.ย.54) นับเป็นอุทกภัยครั้งที่รุนแรงที่สุดทั้งในด้านปริมาณน้ำและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน สุขภาพ ทรัพย์สิน รวมถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนกรสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด จึงกำหนดแนวทางการสนับสนุนโครงการเพื่อการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบอุทกภัย 3 แนวทาง ผ่าน 3 ชุดโครงการ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูชุมชนหลังประสบอุทกภัยและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ โดยจะสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ พัฒนาแผนการดำเนินงานหรือโครงการระดับท้องถิ่นเพื่อการจัดการและเตรียมพร้อม เมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนมีส่วนร่วม ลักษณะกิจกรรมที่สนับสนุน เช่น การให้ความรู้สร้างความตระหนัก การป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การทำแผนที่รับมือภัยพิบัติเป็นแผนที่แสดงจุดเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติและเส้นทางเพื่อใช้หนีภัย กิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพกาย ใจ และสภาพแวดล้อม รวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการดำรงชีวิตขณะเกิดภัยพิบัติ
โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งพื้นที่ ฟื้นฟูชุมชนที่ประสบอุทกภัย สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใน 26 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ให้ได้รับการฟื้นฟูในเบื้องต้น อย่างน้อย 26 พื้นที่ สร้างเครือข่ายอาสาสมัครนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนในการจัดการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูสภาพชุมชนหลังประสบอุทกภัย
โครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ฟื้นฟูสุขภาวะชุมชนหลังประสบอุทกภัย โดยจะสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัคร 2 ภาคีหลัก ได้แก่ มูลนิธิโกมลคีมทอง และ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ ระดมอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงเชื่อมกับกลุ่มหรือองค์กรอาสาสมัครในพื้นที่ช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป้าหมายอย่างน้อย 50 พื้นที่ ลักษณะกิจกรรมเน้นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียน วัด สถานที่สาธารณะในชุมชน การบำบัดน้ำเน่าเสียด้วย EM การฟื้นฟูแหล่งอาหารในชุมชน การซ่อมแซมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ และการสื่อสารให้ความรู้ในการดูแลตนเอง
ทั้งนี้ สสส.เตรียบงบประมาณสนับสนุนทั้ง 3 โครงการ ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ชุมชน องค์กร หรือมหาวิทยาลัยใดที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย และมีความพร้อม ติดต่อขอรายละเอียดในการขอรับทุนสนับสนุนได้ที่ โทรศัพท์ 0-2298-0500 ต่อ 1111 ถึง 1116 หรือ เว็บไซต์ http://www.thaihealth.or.th/