“รศ.เสรี” เผยน้ำทุ่งรังสิต ลำลูกกา ท่วมนาน 20 วันถึง 1 เดือนนับจากนี้ เหตุระบายน้ำคลองหกวาสายล่างไปทางตะวันออกของกทม.ทำได้ช้า เพราะคลองยาวกว่า 30 กม. แนะเพิ่มเครื่องสูบน้ำช่วงคลอง 1-4 ช่วยทอยน้ำออกให้เร็ว ส่วนเมืองเอก สรงประภา ดอนเมือง จะท่วมนาน 20 วันเช่นกัน
เมื่อเวลา 20.20 น. รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้ ต้องบริหารจัดการน้ำให้สมดุลกัน ข่าวดีตอนนี้คือระดับน้ำลดลง ทั้งที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ทั้งที่คลองเปรมประชากร ส่วนอิทธิพลน้ำทะเลหนุนในช่วง 2-3 วันนี้ไม่ค่อยมี
สถานการณ์น้ำเหนือในช่วงคลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มวลน้ำทั้งหมดเหลืออยู่ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่รอจะไหลลงมาด้านล่างอาจจะลงมาประมาณ 70% ที่เหลือก็จะเป็นน้ำค้างทุ่งบ้าง โดยศักยภาพในการระบายน้ำมีวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นน้ำท่วมขังเหนือคลองรังสิต น้ำจะท่วมอยู่ 1 เดือน นับจากนี้ไป
ส่วนพื้นที่ช่วงจากคลองรังสิต ลงมาในพื้นที่ลำลูกกาจนถึงคลองหกวาสายล่าง พื้นที่นี้มีประมาณน้ำ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำในคลองหกวาสายล่างยังไม่ค่อยไปถึงคลอง 13 เพราะระยะทางยิ่งยาวยิ่งดึงน้ำลำบาก ระยะทางประมาณ 30 ก.ม. ทำให้พื้นที่เขตลำลูกกา จะต้องอยู่กับน้ำท่วมอีกประมาณ 20 วัน น้ำถึงจะแห้ง
สำหรับช่วงคลองสอง น้ำก็ระบายไม่สะดวก มีขยะ มีผักตบชวามากทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวลำลูกกา มีอยู่ 2 ทาง คือ ประการแรก วันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.) จะมีการเจรจากัน ว่าจะปล่อยให้น้ำล้นผ่านคลองหกวาสายล่างลงมา ก็ขึ้นอยู่ว่าจะปล่อยออกมาเท่าไร ประการที่สอง เนื่องจากระยะทางคลองหกวาที่จะระบายออกไปถึงคลอง 13 มีระยะทางไกล เครื่องสูบน้ำที่ปลายทางก็สูบไม่ได้ ตนอยากเสนอว่า ปริมาณน้ำที่เอ่อท่วมในช่วงคลอง 1-4 ต้องแบ่งเครื่องสูบน้ำมา เพื่อช่วยทอยน้ำออกไป ตอนนี้ท่วมสูง 1 เมตรกว่าๆ ต้องช่วยเขา ต้องทอยน้ำออกไป ต้องเร่งดำเนินการ เพราะการจะลดผลกระทบได้มากที่สุด คือ การทอยน้ำออกไป
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมฝั่งเมืองเอก ทุ่งสีกัน สรงประภา การระบายน้ำแย่มาก น้ำไม่ไปไหนเลย น้ำในคลองเปรมประชากร ระบายยากเพราะมีขยะ น้ำในพื้นที่นี้มี 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงได้ทางเดียวคือระบายลงคลองเปรมฯ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 20 วัน กทม.ต้องเร่งทะลวง คอคอด ต่างๆในคลองเปรมฯ คือขยะ ทำให้น้ำไหลได้สะดวก ส่วนพื้นที่ สรงประภาลงมาแจ้งวัฒนะ ดอนเมือง ก็ใช้เวลาประมาณ 20 วันเช่นกัน
สำหรับการเปิดบิ๊กแบ็กที่ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้น้ำไหลเข้ามา 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที บวกกับอีก 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่จุดเปิดบิ๊กแบ็กที่ถนนพหลโยธิน ถ้าไม่เปิดเพิ่ม ด้านบนก็จะใช้เวลาระบายน้ำนาน
สำหรับการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ตอนนี้สู้ด้วยเครื่องสูบน้ำอย่างเดียว ในอนาคต จะต้องมีฟลัดเวย์พาดผ่านลงมา เริ่มจากจ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี เพื่อตัดยอดน้ำ ต้องระบายน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยฟลัดเวย์นี้จะมาลงที่แม่กลอง จ.สมุทรสาคร อาจจะต้องเช่าที่ชาวบ้านบริเวณนั้นเพื่อทำฟลัดเวย์ นอกจากนี้ยังมีแผนการทำถนนวงแหวนรอบที่สาม ถ้าทำถนนวงแหวนนี้ให้เป็นทางระบายน้ำได้ด้วยก็จะช่วยระบายจากอยุธยา ลงมาทางด้านซ้ายและขวาของกรุงเทพมหานครก็จะช่วยได้