กทม.แนะประชาชนเลี่ยงลุยน้ำสกปรกป้องกันน้ำกัดเท้า หลังพบประชาชนพบแพทย์แล้วกว่า 1,000 ราย
นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค - 7 พ.ย.54 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้วยโรคผิวหนัง และโรคน้ำกัดเท้า จำนวน 1,182 ราย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยส่งผลให้ประชาชนต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานานจนเท้าเปื่อย เนื่องจากบริเวณซอกเท้า และผิวหนังที่เปื่อยจะเป็นจุดที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย อีกทั้งหากเกิดผื่นคันตามใบหน้าหรือลำตัวอาจก่อให้เกิดความรำคาญจากอาการคันได้ รวมถึงหากสัมผัสถูกเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) อาจเป็นโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันโรคผิวหนังดังกล่าวทำได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลผิวหนังให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกไม่ได้ ควรล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า กรณีมีบาดแผลควรชำระล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ด่างทับทิม แล้วทายาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เพราะปล่อยทิ้งไว้ผิวหนังที่ลอกเปื่อยจะชื้นและติดเชื้อราได้ ให้สังเกตจากอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก และมีกลิ่นเหม็น ถ้าปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังเชื้อราจะฝังตัวอยู่ในผิวหนังทำให้รักษายาก แม้อาการดีขึ้นจนดูเหมือนหายดีแล้วแต่เมื่อเท้าอับชื้นก็จะเกิดอาการลุกลามขึ้นใหม่ เป็นๆ หายๆ ไม่หายขาด
ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยขอรับยาป้องกันน้ำกัดเท้าได้ฟรีที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 8 แห่ง โดยดูรายละเอียดการออกหน่วยแพทย์และโรงพยาบาลเคลื่อนที่ได้ทาง www.msdbangkok.go.th