xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะ มข.ร่วมระดมความเห็น พัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิศวะ มข.ร่วมระดมความคิดเห็น แนวทางการพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟสำหรับประเทศไทย เล็งสร้างรางคู่เดิม รวม 6 เส้นทาง 873 กิโลเมตร

ผศ.ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนได้รับเชิญจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นเชิงวิชาการ เรื่องแนวทางการพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟสำหรับประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ โดยมี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้เกียรติเข้าร่วมและเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนประมาณ 120 คน

ทั้งนี้ สรุปประเด็นที่สำคัญจากการประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการระบบรถไฟรางคู่เดิม ที่วิ่งบนรางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ในระยะที่ 1 รวม 6 เส้นทาง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 873 กิโลเมตร (รวมเส้นทางมาบกะเบาะ-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร และเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 188 กิโลเมตร) ของ ร.ฟ.ท.ไว้โดยจะไม่โยกงบประมาณในแผนการลงทุนโครงการเหล่านี้ไปพัฒนารถไฟความเร็วสูงตามที่ได้ปรากฏในสื่อต่างๆ สำหรับโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งบนรางขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) จะก่อสร้างขึ้นบนทางใหม่เฉพาะ (Dedicated Track) และจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะสามารถให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าร่วมกัน การพัฒนาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟของประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ให้บริการประชาชนด้วยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และรองรับการขนส่งภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น