ใช้ EM Ball อย่างไร ? จึงจะได้คุณค่า
โดย กมลรัตน์ อู่อรุณ
จากปัญหาน้ำเน่าที่ยังตามทำลายคุณภาพชีวิตของคนไทยในขณะนี้ เป็นที่ทราบดีว่า EM ball กลายเป็นฮีโร่หมายเลขหนึ่ง ที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาดังกล่าว
แต่ภายใต้ความสะดวกในการบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น ต้องมีเงื่อนไขการใช้อย่างเหมาะสมจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา อย่าง ดร.เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยืนยัน ว่า EM Ball ใช้ได้ผลจริง แต่ที่บอกว่าการกำจัดน้ำเสียที่ดีที่สุดคือการใช้กังหันชัยพัฒนา ด้วยหลักการเติมออกซิเจนลงไปในน้ำให้มากที่สุดเป็นเรื่องจริง แต่ในกรณีน้ำท่วมทั่วประเทศจะให้ไปติดตั้งกังหันทั่วประเทศอาจเป็นไปไม่ได้ แต่ยังมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนอีกมากมายที่สามารถนำมาบำบัดน้ำเสียได้ เนื่องจากจะทำงานเป็นห่วงโซ่อาหารที่กินต่อกันเป็นทอดๆ โดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ จะมีเชื้อบาดทะยัก เชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นอันตราย แต่เมื่อส่งจุลินทรีย์ EM ลงไป
ทว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ EM ball มีประสิทธิภาพคือการใช้ที่ถูกต้อง เช่น บ่อ 10 x 10 เมตร ควรใส่ไม่เกิน 2-4 ลูก แล้วรอประมาณ 2-3 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้เติมไปอีก 2 ลูก เพราะก้อนจุลินทรีย์แห้ง เมื่อจุลินทรีย์ถูกโยนลงไปแล้วจะใช้เวลาในการปรับตัวกว่าจะเจริญเติบโต ฉะนั้น ผู้ใช้จึงต้องใจเย็น ไม่ใช่โยนไปแล้วจะได้ผลทันที ต้องรอให้เชื้อดังกล่าวเจริญเติบโต ถึงจะแพร่พันธุ์ไปได้เร็วมากจากนั้นจุลินทรีย์ก็จะกินอาหาร ของเน่าเสียในน้ำจนหมด จากนั้นสภาพน้ำจะดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาเช่นนี้ช่วยประหยัดงบประมาณได้ดี
ดร. หฤษฏ์ นิ่มรักษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสริมว่า การใช้ EM Ball ให้ถูกต้องใช้ในน้ำที่เริ่มต้นเสียจึงจะมีประสิทธิภาพ เป็นน้ำนิ่ง หรือน้ำขังอยู่ในบริเวณบ้าน กรณีน้ำไหลแรงจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะถูกพัดไปกับน้ำหมด ซึ่งหลังจากใส่ไปแล้ว 7-15 วัน คุณภาพน้ำจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งหลักการนี้ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในคอกปศุสัตว์ ดังนั้นการกำจัดน้ำจากขยะได้ดี
เช่นเดียวกับรศ.ดร.สุมาลี เหลืองสกุล คณบดีคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวยืนยันเช่นกันว่า “ฟันธงได้เลยว่าจุลินทรีย์ใช้บำบัดน้ำเสียได้ เพราะจุลินทรีย์มีหลายชนิด มีวงจรชีวิต ความสามารถ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยวงจรชีวิตที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ EM ย่อมาจาก Effective Micro organism ต้องผ่านการทดลองวิจัยมาแล้วว่ามีความสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เราต้องการให้ย่อยได้ เช่น ในน้ำเสียมีสารอินทรีย์หลายอย่างปะปนกัน ก็จะมีการแยกจุลินทรีย์ที่มีหน้าที่ต่างกันมาทำหน้าที่ เช่น จุลินทรีย์ตัวที่ 1 ย่อยสารอาหารที่มีขนาดใหญ่ ก็ได้ผลผลิตออกมา ตัวที่ 2 ก็มาใช้ผลผลิตของตัวที่ 1 ให้ผลผลิตเป็นอาหารของตัวที่ 3 มันอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นระบบนิเวศของเขา ช่วยกันทำงานจนสุดท้ายทำให้น้ำสะอาด เพราะสารอินทรีย์ในน้ำถูกย่อยสลายไปหมด
ด้วย EM ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ ทั้งซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ประกอบไปด้วยก้อนจุลินทรีย์ธรรมชาติสามกลุ่ม คือ จุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลกติก ยีสต์ และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ช่วยย่อยตะกอนให้กลายเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในน้ำทำให้เกิดการย่อยสลายที่มากขึ้น และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ทำให้สภาพของน้ำสมดุล เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญพรั่งพรุศัพท์วิทยาศาสตร์ออกมายืนยันสรรพคุณเช่นนี้จะไม่ให้EM เป็นพระเอกคงไม่ได้ แต่ก็ยังมีกระแสสงสัยในประสิทธิภาพของเจ้าก้อนกลมนี่ออกมามากมายเช่นกัน ฉะนั้น จะเราควรจะดูว่าหากเราเลือกใช้แล้วผลที่ได้จะคุ้มค่ากับงบในกระเป๋าที่เสียไปหรือไม่