อย.พบเต้าฮวยนมสดปนเปื้อนเชื้อ อี.โคไล ตัวการอาหารเป็นพิษ และพบสารต้องห้าม “สารกันเสีย-ยีสต์ เชื้อรา โคลิฟอร์ม” เกินมาตรฐาน พ่วงโทษไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย.-สถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี พร้อมสั่งระงับการผลิต และเรียกคืนผลิตภัณฑ์
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อย.ได้มีการตรวจสอบน้ำหวานกลิ่นผลไม้รวม ตราซูเปอร์วัน หลังจากได้รับการร้องเรียนของผู้บริโภคที่พบว่า มีการระบุ เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นบนฉลาก ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าร้านที่ขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชื่อ ร้านศศิพร เลขที่ 26/88 ม. 3 ซ.เพชรเกษม 114 ถ.เพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. โดยสถานที่ดังกล่าว มีลักษณะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมาย ได้รับเลขสถานที่ผลิตที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (สบ.1) ที่ 10-1-04849 และได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารตั้งแต่เลขที่ 10-1-04849-1-0001 ถึง 10-1-04849-1-0013 ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
ภญ.ศรีนวลกล่าวเพิ่มว่า ขณะตรวจไม่พบการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำหวานกลิ่นผลไม้รวม ตราซูเปอร์วัน ที่ได้รับการร้องเรียนแต่อย่างใด แต่พบว่ามีการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเครื่องดื่มวุ้นมะพร้าวบรรจุขวดพลาสติกฉลากระบุ “เต้าฮวยนมสด ตราศศิพร” แสดงเลขสารบบอาหารหลายรายการ เช่น เต้าฮวยรสนม อย.10-1-04849-1-0002 เต้าฮวยนมรสข้าวโพด อย.10-1-04849-1-0003 เต้าฮวยนมรสชา อย.10-1-04849-1-0008 ส่วนประกอบ นมสดรสผลไม้ 50% ผลไม้รวม 35% น้ำตาล 15% แต่งกลิ่นสังเคราะห์ (ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) ผลิตโดย 26/88 ม.3 หนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ปริมาตรสุทธิ 140 มล. EXP. 100911 ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมิได้ยื่นขออนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลการตรวจพบว่ามีวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก ยีสต์ เชื้อรา และเชื้อโคลิฟอร์ม (MPN Coliforms) เกินค่ามาตรฐานกำหนด นอกจากนี้ยังพบเชื้อ อี.โคไล (E.coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียที่ตามมาตรฐานต้องไม่พบในอาหาร จึงถือเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
“สำหรับการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษในหลายกรณี ดังนี้ กรณีสถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท กรณีผลิตอาหาร ผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท กรณีผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร แต่มีการแสดงเลขสารบบอาหารบนฉลาก ถือเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท และเข้าข่ายเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดว่าได้รับเลขสารบบอาหารแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท” ภญ.ศรีนวลกล่าว
รองเลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การตรวจพบว่ามีวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่มีการแสดงข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” บนฉลาก ถือเป็นการผลิตอาหารที่มีการแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด รวมทั้งได้สั่งระงับการผลิตและเรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากท้องตลาด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย