ปลัด ศธ.เตรียมเสนอตัวเลขความเสียหายสถานศึกษาต่อคณะทำงานรัฐบาล พร้อมสั่งการให้ผู้ตรวจราชการ ศธ.ลงพื้นที่ติดตามดูแลผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมทุกสัปดาห์ และรายงานต่อ รมว.ศธ.ทุกวันจันทร์
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ก่อนหน้านั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาพรวมของ ศธ.และได้จับคู่จังหวัดที่ไม่เดือดร้อนจากน้ำท่วมให้มาช่วยเหลือจังหวัดที่น้ำท่วม ทั้งปทุมธานี นนทบุรี และ กทม.และเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง ศธ.ที่ สป. 921/2554 เรื่องการมอบหมายหน่วยงานในสังกัด ศธ.และผู้รับผิดชอบในการข่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมอบให้ผู้ตรวจ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ 1.นายบัณฑิตย์ ศรีพฤทธางกูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่ กทม.เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน จตุจักร และ หลักสี่ 2.นายกิจสุวัฒน์ หงส์เจริญ ผู้ตรวจ ศธ. รับผิดชอบ กทม.เขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง 3.นายปราโมทย์ แก้วสุข ผู้ตรวจ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่ กทม.เขตบางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค และ บางกอกน้อย 4.นายเสน่ห์ ขาวโต ผู้ตรวจ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่ กทม.เขตบางซื่อ ลาดพร้าว วังทองหลาง และ คันนายาว 5.นายกมล รอดคล้าย ผู้ตรวจ ศธ. รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครปฐม 6.นางสุทธศรี วงษ์สมาน ผู้ตรวจ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดปทุมธานี 7.นายศุภกร วงศ์ปราชญ์ ผู้ตรวจ ศธ. รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และ8.นายวิมล จำนงบุตร ผู้ตรวจ ศธ.รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ผู้ตรวจ ศธ.นั้น ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ประสานงานหลักในการติดตามช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งเรื่องอาหาร การอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่ยังพักอาศัยในบ้านที่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง และได้สั่งการว่าผู้ตรวจ ศธ.ที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ต้องลงดูแลพื้นที่ด้วยตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และจะต้องสรุปรายงานเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ทุกวันจันทร์ซึ่งจะมีการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ด้วย
น.ส.ศศิธารา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในฐานะปลัด ศธ.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบรวบรวมข้อมูลความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับความเสียหายใน 8 จังหวัด คิดเป็นมูลค่า 89 ล้านบาท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสียหายใน 3 จังหวัด คิดเป็น มูลค่า 86 ล้านบาท สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เสียหายใน 2 จังหวัด คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 177 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลอีกครั้งเบื้องต้นได้รับรายงานว่าเสียหายใน 12 จังหวัด มูลค่า 585 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนจะได้สรุปรายงานเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบ และลงนามก่อนจะเสนอต่อไปยังคณะทำงานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ดูแลต่อไป