xs
xsm
sm
md
lg

เมืองเจดีย์ใหญ่อ่วม พุทธมณฑลสาย 4 ท่วมบานปลาย - ลุ้นนิคมอุตฯ สมุทรสาครจมน้ำด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ชาวนครปฐมอ่วมหนัก โดยเฉพาะประชาชนในย่านพุทธมณฑลสาย 4 ยังโกลาหล น้ำท่วมสูงขึ้นยาวไปถึงศาลายา ขณะที่ประชาชนสุดเซ็งไร้การแจ้งเตือนก่อนหน้า อัดการประชาสัมพันธ์ของรัฐล้มเหลว ส่วนประชาชนในสมุทรสาครเกรงมีการขุดถนนรวมถึงเปิดคลองเพื่อเร่งน้ำลงทะเล ซึ่งอาจจะทำให้นิคมอุสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจมบาดาลไปด้วย

วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานโครงการชลประทานนครปฐม ได้แจ้งว่า ขณะนี้ที่อำเภอบางเลน บริเวณบ้านท่าการ้อง น้ำมีความสูงกว่าตลิ่ง 89 เซนติเมตร ในตำบลบางไทรป่า น้ำมีความสูงกว่าตลิ่ง 1.17 เมตร

อำเภอนครชัยศรี หลังที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี น้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.04 เมตร อำเภอสามพราน น้ำสูงกว่าตลิ่ง 17 เซนติเมตร โดยทั้ง 3 อำเภอต้องเตรียมเฝ้าระวังอย่างหนัก

ส่วนที่อำเภอพุทธมณฑล ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา และยังต้องเฝ้าระวังอย่างหนักและเตรียมอพยพทันที

ทั้งนี้ สำหรับในพื้นที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอพุทธมณฑล สถานการณ์น้ำวิกฤตหนักขึ้น จนเกิดความวุ่นวาย โดยภายในพุทธมณฑล ที่มีพื้นที่กว่า 2,500 ไร่นั้นมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ เหลือเพียงพื้นที่บริเวณลานหน้าองค์พระเท่านั้น รถทหารยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกจุด

โดยเฉพาะถนนพุทธมณฑล สาย 4 ได้เกิดวิกฤตมาแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา เมื่อน้ำที่มาจากคลองมหาสวัสดิ์ และคลองทวีวัฒนาได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน สวนเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมอย่างไม่ทันตั้งตัว ประชาชนต่างนำรถยนต์และขนของที่จำเป็นหนีน้ำที่ไหลมาอย่างต่อเนื่องเพียง 2 ชั่วโมงทำให้ภายในชุมชนต่างๆ มีความสูงระดับเอว จากนั้นระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนมาจาก ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล กระทั่งถึงวันนี้ระดับน้ำ ได้สูงขึ้น บางชุมชน มีความสูงถึงเกือบ 2 เมตร ส่วนบนถนนพุทธมณฑลสาย 4 มีน้ำท่วมสูงราว 60-80 เซนติเมตร มีแนวโน้มมากขึ้น

ประชาชนอพยพหนีน้ำท่วมต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้าเมื่อบ่ายวานนี้ (3 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เข้าพื้นที่ไปกับรถบรรทุก 6 ล้อที่ตำรวจภูธรภาค 7 ได้เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอพุทธมณฑล พบว่า เมื่อรถออกจากตัวเมืองนครปฐมต้องเดินทางไปยังถนนเพชรเกษม เข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 เนื่องจากถนนบรมราชชนีนั้นถูกปิดตายการจราจรไม่สามารถให้รถทุกชนิดสัญจรได้

โดยตลอดทั้งเส้นทางสองฝั่งถนนพบประชาชนต่างขนของหนีน้ำกันอย่างต่อเนื่อง และพยายามโบกรถทหาร รถบรรทุกและรถยกสูง สภาพเป็นไปอย่างโกลาหลตลอดทั้งเส้นทาง และต้องรับประชาชนที่ขอสัญจรหลบหนีน้ำไปส่งยังจุดต่างๆ ทั้งขาไปแลเขากลับ โดยรถสามารถวิ่งได้เพียงความเร็วต่ำ เนื่องจากต้องระวังคลื่นน้ำเข้ากระทบเข้าตัวบ้านเรือนและร้านค้าที่มีอยู่ริมทาง

ส่วนที่ตรงข้ามพุทธมณฑล เป็นถนนอักษะนั้นการสัญจรตัดขาดมีน้ำระดับสูง เหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โดยทั้ง 2 ฝั่งถนน ประชาชนได้ตะโกนโบกมือและส่งเสียงจากรถแจกถุงยังชีพะของตำรวจภูธรภาค 7 ตลอดทางและนำไปส่งตามจุดต่างๆที่ต้องการบนถนนเพชรเกษม ถึงจังหวัดนคปฐม โดยมีสภาพเหมือนคนหนีตาย บางคนบอกว่าเหมือนในภาพยนตร์ที่เคยดูแต่ไม่คิดว่าจะเกิดกับตัวเอง

ส่วนที่ศาลายา พบว่าระดับน้ำบนถนน มีความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร แต่ที่บ้านเรือนประชาชน สถานีตำรวจภูธรพุทธมณฑล ที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑล มีระดับ 1.40-1.50 เมตร จมอยู่ใต้บาดาล

โดยมีเจ้าหน้าที่คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา นำกลังมาช่วยประสานโบกรถบรรทุกขนาดใหญ่ พร้อมรถทหาร ที่เข้ามาช่วยขนของและอพยพประชาชนมาตลอดหลายวัน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และนักศึกษาที่ติดอยู่ที่หอพักเพื่อรอเปิดการศึกษาอยู่ด้วยความเดือดร้อน เป็นรูปแบบที่ช่วยเหลือกันประสานกับหน่อยงานของรัฐและยังมีประชาชนจำนวนที่ไม่เคยออกจากบ้านพัก ทำให้เจ้าหน้าที่จะนำข้างกล่องไปส่งให้ด้วยความยากลำบาก เช่นกัน

นอกจากนี้ ที่คลองมหาสวัสดิ์ ประชาชนได้ตื่นกลัว จระเข้ที่โผล่ขึ้นมาให้ประชาชนได้เห็นอย่างตัวเนื่องบางตัวมีขนาดใหญ่ ยาวกว่า 3 เมตรและไม่ทราบจำนวนว่ามีกี่ตัวทำให้ การเดินออกมายนอกบ้านสำหรับผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเกิดความตะหนก เพิ่มขึ้น และคอยเช็คข่าวสารกันตลอด ซึ่งการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเป็นทหาร ตำรวจ เป็นหลัก ยังไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนลงไปช่วยประชาชนที่ประสบภัยอย่างชัดเจน บางหน่วยงานยังประสานงานกับหน่วยงานภายนอกได้ชัดเจน หลายพื้นที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือหลังจากเกิดเหตุ

อัดการประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐล้มเหลว

ขณะที่รถบริจาคถุงยังชีพของตำรวจภูธรภาค 7 มีประชาชนออกมาโบกรถตั้งแต่อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอสามพราน โดยหลายรายต้องขอออกมาซื้อของแห้งอาหาร และหลายราย ขนเพียงเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงออกมาเพื่อไปหาที่อาศัยตามศูนย์อพยพต่างๆ ที่จัดไว้ให้แต่ประชาชนได้บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนของหน่วยงานรัฐนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะบางแห่งไม่ได้รับการแจ้งมาก่อนให้อพยพออกจากพื้นที่

น.ส.รจนา น้อยแก้ว อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ม.10 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน บอกว่า ที่บ้านน้ำได้ท่วมสูงตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.แล้วและก่อนหน้าไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานใดซึ่งระดับน้ำได้เข้าท่วมที่บ้านพักเพียง 2 ชั่วโมงก็เท่าระดับเอว จึงได้อพยพหนีไปอยู่ศูนย์พักพิงที่จังหวัดราชบุรี

“เมื่อกลับมาดูบ้านวันนี้พบว่าระดับน้ำอยู่ที่อกแล้วและยังมีท่าทีแสดงถึงความสูงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ได้กลับมาบ้านเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินว่ามีอะไรเสียหายและสูญหายบ้าง” น.ส.รจนากล่าว

ด้าน นายปิยวัฒน์ สาครเย็น อายุ 26 ปี บ้านพักอยู่ที่หมู่บ้านปาริชาติ เลขที่ 49/105 ม.1 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม บอกว่า ตนไปทำงานนอกบ้าน จู่ๆ ช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาแม่ได้โทร.มาบอกว่าน้ำท่วมเร็วและสูงมาตนจึงได้รีบออกมาจากที่ทำงานแล้วเอาของออกมจากบ้านเป็นเสื้อผ้าได้ชุดเดียวและไม่มีใครแจ้งบอกว่าจะมีน้ำมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลและช่วยเหลือ

เรือรับช่างฉวยโอกาสโก่งราคาซ้ำ

ทั้งนี้ สภาพน้ำท่วมขังที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 วันนี้ได้สูงขึ้นอีกต่อเนื่อง โดยที่ถนนเชื่อมโยง เข้าหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล น้ำสูงราว 1 เมตร รถบรรทุกเท่านั้นที่สัญจรได้ ที่ถนนเพชรเกษมจุดแยกเข้าถนนพระราม 2 วันนี้ถนนตัดขาดรถใหญ่เข้าได้เท่านั้นและการจราจรติดคับคั่ง

โดยที่ทางเข้าอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มมีน้ำท่วมเอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาพความโกลาหลตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา และขณะนี้ถนนเพชรเกษมได้ถูกตัดขาดลงอีกสาย ทำให้เหลือถนนพระราม 2 เท่านั้นที่จะเชื่อมโยงกับกรุงเทพได้และตอนนี้ก็ยังมีแนวโน้มจะเดินทางเข้าออกยากมากขึ้นทุกที

ส่วนราคาเรือยางประเภทต่างๆ นั้นมีผู้ค้าฉวยโอกาสในการโก่งราคา เช่น เรือยางขนาดนั่ง 1-2 คนสำหรับเด็กเล่น ปกติราคา 700 บาท มีผู้ซื้อมาในราคา 1,900 บาท เรือพายแบบอัดลมมีชุดสูบและพายในชุด จากเดิม 1,700 บาท มีประชานไปซื้อที่สะพานเหล็กปรับราคาเป็น 2,900 บาท แต่ด้านนอกจำหน่ายลำละ 3,500 บาทประชาชนต้องการให้หน่วยงานทีรับผิดชอบตรวจสอบด้วย

ลุ้นนิคมอุตฯ สมุทรสาคร เสี่ยงจมน้ำ

ทั้งนี้ สำหรับความต้องการของประชาชนคือต้องการน้ำดื่มเพื่อยังชีพในเบื้องต้นเพราะไม่สามารถหาซื้อได้ในช่วงนี้ และคาดว่าสภาพความยากลำบากในการเดินทางจะมีมากขึ้นเรื่อย

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ต่างหวั่นเกรงกันวว่า ทางรัฐบาลจะมีการขุดเจาะถนนหรือทำคลองเปิดทางเพื่อให้มวลน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือมาอย่างมหาศาล อาจจะทำให้นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเสียหายอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ โดยมีประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการพูดคุยกันถึงแผนดังกล่าวว่า อาจจะมีขึ้นหากน้ำมาถึงปลายทางก่อนลงทะเล และมาเร่งระบายที่ปลายทางแห่งนี้
















กำลังโหลดความคิดเห็น