xs
xsm
sm
md
lg

“จากอีเอ็มบอล” ถึงมรณะที่น่ากลัวกว่า “น้องน้ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างที่สถานการณ์น้ำท่วม ตามมาด้วยภาพน้ำเน่า ขังอยู่ทั่ว กทม.และปริมณฑล ขณะนี้ เราลองมาดูมุมมมองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์กันบ้างว่าเป็นอย่างไร

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช  ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (American Board of Anti-aging medicine) อธิบายไว้อย่างขัดเจนในงานเขียน เรื่อง “จากอีเอ็มบอล”ถึงมรณะที่น่ากลัวกว่าน้องน้ำ”

โดยมีเนื้อหาพอสังเขป ว่า อีเอ็ม หรือ EM ย่อมาจาก Effective Microorganisms ขอแปลง่ายๆ ว่า ก้อนเชื้อบำบัดน้ำเสีย โดยในช่วงน้ำท่วมแถวคลองลาดพร้าวจ่อคอหอยเต็มที ผมได้เข้าไปทำรายการที่ช่องโมเดิร์นไนน์เลยได้มีโอกาสพบกับท่านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ โดยท่านมีความเห็นต่างออกไปในเรื่องของเจ้าลูกจุลินทรีย์นี้ ซึ่งในแง่ของสื่อผมเห็นว่ามีแง่มุมน่าสนใจจึงได้ไปค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆที่เชื่อถือได้มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับลูกอีเอ็มบอลลูกหนึ่งโดยทั่วไปดูแลน้ำได้แค่ราว 4X4 ตารางเมตรและควรใช้ในน้ำนิ่งจึงจะได้ผลดีที่สุด อย่างใน 2 กรณีคือ

- โยนในคอห่าน ใช้กับสุขาในบ้าน หรือในสุขาลอยน้ำก็ได้ ช่วยป้องกันไม่ให้ห้องน้ำของท่านกลายสภาพเป็นห้องแพร่เชื้อ

- โยนในน้ำเน่าขังที่บ้าน หากท่านรับน้องน้ำเข้าไว้ในห้องรับแขกแล้วเริ่มเน่า เอาลูกนี้โยนไปตามขนาดพื้นที่เลยครับ

การใส่ลูกที่สองต่อไปควรใช้ในอีกราว 1 เดือนครับ ส่วนประกอบของเจ้าลูกกลมปั้นได้นี้ก็มีเชื้อจุลินทรีย์โดยมีแกลบและรำเป็นอาหารหลัก ต้นทุนต่อลูกไม่เกิน 2 บาท ซึ่งนับว่าถูกมาก
นี่เป็นข้อมูลจากทางการได้มาครับ

ดังนั้น สรุปว่า ลูกบอลนี้ก็มีที่ใช้และมีประโยชน์อยู่แต่ควรต้องใช้ให้ตรงกับข้อบ่งใช้ ไม่ใช่เห็นน้ำที่ไหนก็เอาไปหย่อนไว้เสมอ เช่นเห็นน้ำท่วมกำลังไหลซู่ซ่าอย่างกับน้ำตกไนแองการ่าก็เอาอีเอ็มบอลไปใส่ อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ครับ หรือมวลน้ำปริมาณมหาศาลแล้วใส่อีเอ็มบอลไม่พอก็ไม่ช่วยครับ
เผลอๆ จะกลายเป็นทำให้น้ำยิ่ง “ป่วย” หนักขึ้น

เพราะลูกบอลนี้มีส่วนประกอบที่คล้ายขยะดีๆ นี่เอง เน่าเสียได้ง่ายนะครับเหมือนกับกรณีที่เรือน้ำตาลพลิกคว่ำในแม่น้ำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่นานมา ลูกบอลอีเอ็มจะแปรสภาพจากพระเอกน้ำเน่าไปเป็นผู้ร้ายที่ทำให้น้ำยิ่งเน่าหนักขึ้น เห็นท่านผู้มีจิตอาสามาช่วยกันปั้นแล้วก็อนุโมทนาด้วยครับ แต่ขอให้นำมาใช้ให้ถูกจุดนะครับไม่อย่างนั้นน่าเสียดายที่สู้อุตส่าห์ช่วยกันปั้น
สุขสันต์กับอีเม้ยบอล

มรณะซ่อน แผนซ้อนจาก “น้ำ”

พอพูดถึงน้ำเน่าแล้วก็ขอเพิ่มเรื่อง “ผู้ร้ายตามน้ำ” แถมพกเข้ามาสักนิดนะครับ สำหรับกระแสชลาลัยที่ผ่านตัวเราไปไม่ได้มีภัยเฉพาะจากจระเข้หรืองูกรีนแมมบ้าเท่านั้นนะครับ สิ่งที่ตามน้องน้ำมายังมีได้อีกครับ

1) กรดกำมะถัน เป็นกรดที่ละลายน้ำได้มักอยู่ในโรงงานหล่อยางรถยนตร์ และแบตเตอรี่รถยนตร์ครับ น้ำที่ผ่านตามนิคมอุตสาหกรรมเป็นน้ำที่ไม่น่าไว้วางใจ มิไยที่ใครต่อใครจะออกมาบอกว่าโรงงานของเขาปลอดภัย แต่จะมีใครให้ความมั่นใจได้บ้างไหมว่าน้ำที่ผ่านออกมาจะปลอดภัยไปด้วยร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเท่าที่ทราบยังไม่มีใครนำน้ำเน่าเหล่านี้มาตรวจอย่างจริงจังเลย จึงอยากให้ท่านผู้อ่านระวังไว้ก่อนก็จะดีครับเป็นการไม่ประมาทด้วย

2) เชื้อบาดทะยัก โดยปกติเชื้อนี้อยู่กับ “พี่ดิน” ครับแต่เมื่อน้องน้ำ (เน่า) พบเข้ากับพี่ดินก็จะชะเชื้อที่อยู่ติดดินตามมาด้วย กลายเป็นน้ำที่อุดมเชื้อโรค หากท่านมีบาดแผลแค่เพียงเล็กน้อยเชื้อจากน้ำเน่าก็สามารถเข้าได้แล้วครับ เช่นเพิ่งตัดแต่งตะไบเล็บมาแล้วมีแผลนิดๆก็ติดเชื้อได้ หรือในเด็กน้อยแรกเกิดที่ภูมิยังอ่อนแออยู่ เชื้อบาดทะยักสามารถผ่านเข้าทางสายสะดือที่ปนเปื้อนได้นะครับ

3) โลหะหนักปนเปื้อน โดยปกติโลหะหนักอย่างตะกั่ว, สังกะสี, ทองแดง ส่วนหนึ่งจะอยู่ในผืนดินที่เรายืนอยู่ทุกวันนี่แหละครับ แต่เมื่อน้ำผ่านมาก็เป็นธรรมดาว่าพี่ดินก็จะต้องปล่อยของตามน้องน้ำออกไปไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ แถบนิคมอุตฯที่เป็นทางผ่านน้ำก็น่าจะมากหน่อย กว่าจะกู้นิคมได้ก็คงปล่อยของออกมาเยอะพอดูครับ ส่วนตามบ้านก็มีตะกั่วอยู่ในสีทาบ้านแล้วก็ผ่านตามน้ำออกมา โลหะเหล่านี้สามารถผ่านเข้าไปทางเยื่อบุร่างกายได้ โดยเฉพาะในเด็กน้อยนี่ดูดซึมตะกั่วได้ดีกว่าผู้ใหญ่ 5-8 เท่าเชียวนะครับ ยิ่งอยู่กับน้ำนานก็ยิ่งมีโอกาสรับสารมรณะมาก ถ้าไม่อยากให้ลูกเสริมตะกั่วโดยไม่จำเป็นก็ขอให้ป้องกันให้ดีครับ

จำเนียรกาลผ่านไป เชื้อและสารปนเปื้อนจากน้ำเน่าก็จะมีความเสี่ยงเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้มากขึ้น ท่านที่พยายามสู้ยิบตากับน้ำมานับเดือนจะทราบดีครับ การอยู่ในบ้านที่แวดล้อมด้วยน้ำเสียนอกจากเสียสุขภาพจิตแล้วยังเสียสุขภาพกายโดยรวมอีกด้วย ท่านจะรู้สึกได้ทันทีถึงสภาพร่างกายที่แย่ลง
ติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นหวัดไม่สบายได้ง่ายๆ
แค่เชื้อขำๆผ่านมาก็ติดได้แล้ว

กลายเป็นสุขภาพที่พลอยจมอยู่ในน้ำไปด้วย ซึ่งทางช่วยยังพอมีอยู่บ้างครับแม้จะไม่มากเพราะทางหลักๆอยู่ที่ทางการจะจัดการให้ “น้ำลด” ลงเร็วเท่าไร ถ้ายังไม่ไวพอสุขภาพของผู้คนก็จะตกกราฟลงเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป ไม่เป็นไรครับยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องสู้กันไปให้กำลังใจกันไปในฐานะที่เป็นผู้ประสบภัยเหมือนๆ กัน

สิ่งสำคัญที่จะพอช่วยป้องกันภัยจากน้ำร้ายที่ว่านี้ได้ คือ “รองเท้าบูต” ครับ หาซื้อไว้สักท่านละคู่ ใช้ใส่ยามจำเป็นต้องย่ำลงไปชั้นล่างของบ้านที่เฉอะแฉะและยังใช้ป้องกันไฟฟ้าดูดได้ด้วยครับ ผมได้รับไอเดียนี้มาจากคุณแม่ที่ท่านแนะให้ซื้อเก็บเอาไว้ตั้งแต่น้ำยังไม่มา และยามน้ำลดก็ยังเอามาใช้ได้ต่อ
แต่ขอให้อย่าต้องเอามาใช้อีกปีหน้าเลย

//////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น