xs
xsm
sm
md
lg

คาดพิษน้ำท่วมพังถนนกรุงเทพฯกว่า 100 สาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
คาดถนนในเมืองกรุงเสียหายกว่า 100 สายจากพิษน้ำท่วม เร่งหาแนวทางบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ต่างๆ หลังน้ำลด เผยต้องใช้งบซ่อมแซมหลักพันล้าน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับน้ำฝนในปีหน้าและป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่

วันนี้ (2 พ.ย.) นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมฝ่ายฟื้นฟูบูรณะ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2554 ครั้งที่ 1/2554 โดยมีผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักพัฒนาสังคม สำนักการคลัง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) เพื่อเตรียมความพร้อมและหารือแนวทางการเข้าบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเบื้องต้นหากปริมาณน้ำท่วมขังลดลงเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมพื้นผิวถนน และฟุตปาทที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษาประตูระบายน้ำต่างๆ และที่ได้รับความเสียหายให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ อีกทั้งการล้างท่อระบายน้ำไม่ให้มีขยะตกค้างหรืออุดตันในระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร

นายจุมพล กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผ่านช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงไปแล้ว และเป็นสัญญาณที่ดีที่ กทม.จะเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงได้หารือถึงแนวทางการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหลังจากน้ำลดลงเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้พื้นที่ต่างๆ กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนนี้ รวมถึงรับมือกับน้ำฝนในปีหน้าด้วย เบื้องต้นคาดว่ามีถนนได้รับความเสียหายมากกว่า 100 สาย และต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมหลักพันล้านบาท ซึ่ง กทม.จะสำรวจและสรุปความเสียหายทั้งหมดแล้วรายงานให้ผู้ว่าฯ กทม.ทราบ จากนั้นจะส่งเรื่องเพื่อขอรับงบประมาณในการดำเนินการไปยังรัฐบาลต่อไป สำหรับการบูรณะซ่อมแซมจะเน้นใช้วัสดุเดิมเป็นหลัก เช่น ถนนที่ได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็จะเทหินคลุกลาดยาง หรือคอนกรีตปิดหลุมบ่อ ทางเท้าชำรุดก็จะซ่อมแซมโดยใช้กระเบื้องเดิมเป็นหลัก ไม่ก่อสร้างหรือซื้อใหม่โดยไม่จำเป็นเพื่อประหยัดงบประมาณ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่และต้องใช้งบประมาณในการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น