เอแบคโพลล์เผย ร้อยละ 77.4 ของคนกรุง เครียดและวิตกกังวลต่อปัญหาน้ำท่วม ขณะ 63.8% ไม่ประสงค์จะอพยพไป ตจว.เหตุห่วงบ้าน-ทรัพย์สิน จี้ปรับปรุงการทำงานของตำรวจ ไฟฟ้า น้ำประปา ขณะที่รู้สึกดีต่อการช่วยเหลือเกื้อกูลและความมีน้ำใจของคนในชาติ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความทุกข์ ความเสียสละ และการให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,457 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.4 รู้สึกเบื่อหน่าย เครียดและวิตกกังวลเป็นความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม รองลงมาคือร้อยละ 76.9 ระบุไม่สะดวกในการเดินทาง ร้อยละ 66.8 ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 58.5 อาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรคมีไม่เพียงพอ และร้อยละ 38.9 กำลังขาดรายได้
เมื่อถามถึงการรับรู้ต่อการสื่อสารการทำงานแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมของ รัฐบาลผ่าน ศปภ. ภายหลังปรับเปลี่ยนการทำงานของทีมโฆษก ศปภ.พบว่า ร้อยละ 54.5 ระบุดีขึ้น แต่ร้อยละ 34.2 ระบุเหมือนเดิมและร้อยละ 11.3 ระบุแย่ลง ตามลำดับ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.8 ไม่ประสงค์จะอพยพหรือเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อหนีภัยน้ำท่วม เพราะ เป็นห่วงบ้าน ทรัพย์สิน/ไม่ปลอดภัย ไม่สะดวก มีคนเจ็บ คนชราและเด็กเล็กต้องดูแล และไม่มีที่จะไป ไปแล้วก็ลำบาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก เป็นต้น โดยร้อยละ 74.9 ระบุความช่วยเหลือของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่อประชาชนผู้ประสบภัยไม่ทั่ว ถึง แต่ร้อยละ 61.9 ยังให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี สั่งการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ปรับปรุงการทำงานของตำรวจ ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นการเร่งด่วน รองลงมาคือ ร้อยละ 70.2 ช่วยเหลือให้ทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ช่วยเฉพาะกลุ่มหัวคะแนนของตน ร้อยละ 68.4 แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ขาดตลาด ร้อยละ 65.0 ติดตามจับกุมมิจฉาชีพ คนร้ายลักทรัพย์ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้ ร้อยละ 61.5 เรียกร้องให้ปรับปรุงการทำงานของศูนย์สายด่วน Hot Line ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านต่างๆ ร้อยละ 58.1 ลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้าน และร้อยละ 52.4 แก้ปัญหาขาดรายได้ การประกอบอาชีพของประชาชน ตามลำดับ
สำหรับสิ่งดีๆ ที่ประชาชนพบเห็นในภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 ระบุความช่วยเหลือเกื้อกูล ความมีน้ำใจของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 76.3 ความเสียสละ ร้อยละ 73.5 ความอดทน ร้อยละ 70.9 ความสามัคคี และร้อยละ 69.5 ความรักและการแบ่งปัน ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 40.6 เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 22.8 เชื่อมั่น ร้อยละ 23.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่น และร้อยละ 12.7 ไม่เชื่อมั่น ตามลำดับ