xs
xsm
sm
md
lg

สภาวิจัยชี้ “เรือดันน้ำ” ไม่คุ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ
สภาวิจัยแห่งชาติให้ข้อมูล “เรือดันน้ำ” ไม่คุ้ม หากจะได้ผลดี ต้องใช้เรือจำนวนมากเรียงแถวหน้ากระดาน เป็นระยะๆ แนะควรผันจากคลองหกวา ลงบางปะกงจะดีกว่า

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติหรือสภาวิจัยแห่งชาติ ได้ระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง และสรุปความเห็นว่า การใช้เรือดันน้ำจะมีประโยชน์และได้ผลเมื่อใช้กับลำน้ำที่มีขนาดเล็ก ดังที่มีการกล่าวอ้างถึงกรณีคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการน้อมนำเอาพระราชดำริมาปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจังหวัดสมุทรปาการ สมุทรสาคร สมุทรสงครามจะร่วมระดมเรือดำเนินการ “ดันน้ำอีกระลอก” น่าจะไม่คุ้มค่า

รศ.สุธี อักษรกิตติ์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ เพิ่มเติมว่า การไหลของมวลน้ำมหาศาลในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ปกติจะไม่สม่ำเสมอกันทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก กล่าวคือ น้ำที่บริเวณตรงกลางแม่น้ำจะไหลเร็วกว่าน้ำที่ไหลใกล้ตลิ่ง ขณะเดียวกันน้ำที่ไหลที่ผิวน้ำจะมีความเร็วกว่าน้ำที่ระดับความลึกลงไป นอกจากนี้แล้วการไหลของน้ำจะขึ้นอยู่กับความลาดเอียงของพื้นท้องน้ำตั้งแต่ ตำแหน่งต่างๆ ของแม่น้ำจนถึงออกทะเลไป ลักษณะทางกายภาพ และสภาวะแวดล้อมของตลิ่งและสภาพพื้นท้องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีก ก็คือ ระดับน้ำที่ปลายทาง เพราะถ้าระดับที่ปลายทางคือระดับน้ำทะเลที่ปากอ่าวต่ำ การขับเคลื่อนของมวลน้ำก็จะไปได้อย่างดีตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าระดับปลายทางสูง เช่นกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูง ต้องใช้พลังงานมหาศาลในการขับดันน้ำออกไป รวมถึงประเด็นที่มีแขนงลำน้ำแยกออกจากสายใหญ่ของแม่น้ำ ยังจะมีผลให้น้ำแตกเข้าไปในแขนงลำน้ำด้วย พลังขับเคลื่อนก็ลดลงไปอีกระดับหนึ่ง

การใช้เรือดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลนั้น กำลังผลักดันของเครื่องยนต์เรือแต่ละลำต้องมีกำลังมหาศาล และต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมทั้งระดับความลึกของใบพัดเรือต้องสอดคล้องกับความลึกของแม่น้ำ ณ จุดนั้นๆ ดังนั้น จึงต้องใช้เรือจำนวนมากวางเรียงแถวหน้ากระดานเกือบเต็มแม่น้ำ และหากหวังว่าจะใช้ได้ผล ก็อาจต้องมีกองเรือวางเป็นระยะๆ จนถึงปากอ่าว ซึ่งคงใช้เรือจำนวนมากมาย มหาศาล ประเมินกันว่าตามวิธีที่ทำกันมา หรือกำลังจะทำต่อไปนั้นจะช่วยให้น้ำระบายเร็วขึ้นเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ศ.นพ.สุทธิพร เสริมว่า ในเรื่องนี้เคยมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยและทำแบบจำลองแล้วและพบว่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ด้าน จึงจะได้ผลอย่างดีดังที่ รศ.ดร.สุธี ได้ให้ข้อมูล นอกจากนั้น ได้มีการหารือกับ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแล้ว เห็นว่า ขณะนี้ทางการได้เร่งระบายน้ำออกจากคลองหกวาไปได้ระดับหนึ่งทำให้มีพื้นที่รับน้ำได้เพิ่มขึ้น แต่น้ำในบริเวณคลองรังสิตมีระดับความลาดเอียงน้อย ทำให้มวลน้ำไหลระบายไปสู่คลองหกวาที่จะผันน้ำออกไปทางแม่น้ำบางปะกงไม่เร็วนัก วิธีใช้เรือดันน้ำให้ระบายเร็วขึ้นในกรณีนี้อาจได้ผลดี

ดังนั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความคิดในเรื่องนี้ทบทวนตามหลักวิชาการด้วยว่าจะคุ้มค่ากับเวลาและทรัพยากรหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น