xs
xsm
sm
md
lg

จรัญสนิทวงศ์จมน้ำ ปิดอุโมงค์บางพลัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรัลสนิทวงศ์ 83
กทม.เตือนพื้นที่เสี่ยงภัยเขตบางพลัด ทั้งแขวงบางอ้อ และแขวงบางพลัด น้ำท่วมสูง ห้ามใช้อุโมงค์บางพลัด ขณะที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 74-80 ระดับน้ำท่วมในซอยสูง 60-80 ซม. บางช่วงลึกถึง 1 เมตร

เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 24 ต.ค. กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงในเขตบางพลัด ถ.สิรินธร แขวงบางอ้อ และแขวงบางพลัด ระดับน้ำท่วมสูงขึ้น แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ โทร. 1555

เมื่อเวลา 23.45 น. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักแนวคันกั้นน้ำส่งผลให้ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32-36 ในเขตบางกอกน้อย มีระดับน้ำท่วมสูง 60 ซม. และน้ำได้เพิ่มระดับสูงขึ้นในช่วงดึกจนรถเล็กผ่านไม่ได้ รวมทั้งยังทะลักท่วมซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1-80 ในเขตบางพลัด บางช่วงมีระดับน้ำลึกถึง 1 เมตร และเอ่อล้นออกถนนใหญ่นำท่วมผิวการจราจรสูง 50-60 ซม. ตำรวจต้องปิดการจราจรห้ามใช้อุโมงค์บางพลัด มุ่งหน้าสะพานพระราม 7 เนื่องจากเมื่อโผล่พ้นอุโมงค์มาแล้วจะมาเจอจุดที่น้ำท่วมขังสูง จะยิ่งมีปัญหาการจราจร อีกทั้งรถเล็กอาจต้องจอดเสีย จึงต้องปิดเส้นทางดังกล่าว ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต

จากผลของคันกั้นน้ำในซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 พังเสียหาย ทำให้มีน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ ส่งผลให้ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 มีน้ำทะลักเข้าท่วมสูง 60-80 ซม. และยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 60-80 ซม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 80 ระดับน้ำท่วมสูง 80 ซม.ถึง 1 เมตร ประชาชนในซอยจรัลสนิทวงศ์ 80 ทยอยอพยพออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่สั่งปิดการจราจรถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 72-84 ทั้งขาเข้าและขาออก เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง ทหารน้ำรถและเรือให้ความช่วยเหลือในการรับส่งประชาชนบริเวณดังกล่าว

สวพ.91 รายงานว่า เมื่อเวลา 23.50 น. คันกั้นน้ำท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 เสียหายกว้างประมาณ 20 เมตร ยังไม่สามารถกู้ได้ ทำให้น้ำเจ้าพระยาไหลเข้ามาตลอดเวลาทำให้ซอย 74-76-78-80 ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะซอย 80 ซึ่งเป็นที่ต่ำสุด น้ำช่วงกลางซอยสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งย่านนี้เคยถูกน้ำท่วมขังนานถึง 3 เดือนเมื่อปี 2538

เมื่อเวลา 01.50 น. ระดับน้ำที่ชุมชนริมคลองบางพลัด ซ.จรัญสนิทวงศ์ 74 น้ำยังเพิ่มขึ้น ชาวบ้านบอกว่าอยู่มาไม่เคยมีน้ำขึ้นสูงขนาดนี้มาก่อน

ขณะที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ แจ้งสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2554 น้ำขึ้น 2 ครั้ง เมื่อเวลา 04.18 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.01 เมตร และเมื่อเวลา 16.48 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.33 เมตร
2. ในวันที่ 25 ตุลาคม 2554 น้ำขึ้น 2 ครั้ง ในเวลา 05.13 น. คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.12 เมตร และในเวลา 16.40 น. คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเล ปานกลาง 2.30 เมตร
3. จากปริมาณการระบายน้ำในปัจจุบัน คาดว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 27-31 ตุลาคม 2554 จะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางประมาณ 2.45 เมตร
4. ระดับน้ำที่ให้ไว้เป็นระดับซึ่งรวมระดับน้ำทะเลหนุนและอิทธิพลอื่นๆ ไว้แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำ หรือมีปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติ ระดับน้ำอาจจะมี การเปลี่ยนแปลงจากนี้ได้
5. สรุป ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าสันเขื่อนกั้นน้ำกรุงเทพมหานคร โดยสันเขื่อนกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.50 เมตร

ภาพประกอบจาก www.mthai.com และทวิตเตอร์ @jomvetnoi
จรัลสนิทวงศ์ 79
กำลังโหลดความคิดเห็น