xs
xsm
sm
md
lg

ระดมเตียงว่างของ รพ.เอกชน ในกรุง-ปริมณฑล รับผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.ลงนามความร่วมมือกับสมาคม รพ.เอกชน เพื่อระดมเตียงว่างของ รพ.เอกชน ใน กทม.เขตปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง รับย้ายผู้ป่วยจาก รพ.รัฐและเอกชน ที่ถูกน้ำท่วม และรับรักษาผู้ป่วยในเขตน้ำท่วมที่ไม่สามารถไปใช้บริการตาม รพ.บัตรทอง ที่ขึ้นทะเบียนได้ ตามนโยบาย รมว.สธ.เผย มี รพ.เอกชน 57 แห่ง แบ่งเป็น 5 โซน เข้าร่วมให้บริการและเบิกค่าใช้จ่ายตรงจาก สปสช.ตามอัตราที่ตกลงไว้ โดยไม่เก็บเงินจากผู้ป่วย มีผลให้บริการย้อนหลังตั้งแต่ 12 ต.ค.เป็นต้นไป จนกว่าภาวะวิกฤตอุทกภัยจะยุติ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการให้บริการผู้ป่วยและการเข้ารับบริการของประชาชน โดยเฉพาะใน รพ.ที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยในไปรับการรักษาที่ รพ.อื่น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ จึงได้มอบหมายให้ สปสช.ประสานสมาคม รพ.เอกชน เพื่อให้ รพ.เอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทั่วถึง โดยให้ผู้ป่วยบัตรทองที่ได้รับการส่งต่อจาก รพ.ที่ถูกน้ำท่วมและจากศูนย์ประสานงาน หรือ ศูนย์ส่งต่อเตียงของ สปสช.รวมถึงประชาชนที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถไปใช้บริการตาม รพ.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ได้ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม การเดินทางลำบาก ต้องมาอาศัยอยู่บริเวณศูนย์อพยพ หรือ รพ.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ถูกน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งประชาชนในระบบบัตรทองหรือ 30 บาท สามารถเข้ารับบริการที่รพ.เอกชนทั้ง 57 แห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า วิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบกับประชาชน และ รพ.จำนวนมาก สมาคม รพ.เอกชนได้ร่วมกับ สปสช.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและรพ.ที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะการรับย้ายผู้ป่วยในจาก รพ.มารักษาต่อ ซึ่งขณะนี้สมาคม รพ.เอกชน มี รพ.57 แห่ง ที่เข้าร่วมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความเดือดร้อนทางสาธารณสุขครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 30 ของเตียงเอกชนทั้งหมด หรือประมาณ 3,000 เตียงโดยแบ่งเป็น 5 โซน ดังนี้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โซนที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี มี 11 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ 2.รพ.วิภาราม-ปากเกร็ด 3.รพ.แพทย์รังสิต 4.รพ.ภัทร-ธนบุรี 5.รพ.เอกปทุม 6.รพ.นวนคร 7.รพ.ปทุมเวช 8.รพ.ราชธานี 9.รพ.ศุภมิตรเสนา 10.รพ.นวนคร อยุธยา 11.รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี

โซนที่ 2 ฉะเชิงเทรา กรุงเทพตะวันออก มี 13 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.จุฬารัตน์ 11 2.รพ.โสธราเวช 3.รพ.สายไหม 4.รพ.นวมินทร์ 1 5.รพ.นวมินทร์ 9 6.รพ.บี.แคร์ 7.รพ.ลาดพร้าว 8.รพ.วิภาราม 9.รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 10.รพ.จุฬารัตน์ 3 11.รพ.จุฬารัตน์ 9 12.รพ.บางนา 2 13.รพ.รวมชัยประชารักษ์

โซนที่ 3 สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กรุงเทพฯตะวันตก มี 11 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.มหาชัย 1 2.รพ.มหาชัย 2 3.รพ.แม่กลอง 4.รพ.วิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย 5.รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร 6.รพ.เกษมราษฎร์ บางแค 7.รพ.บางไผ่ 8.รพ.นครธน 9.รพ.บางมด 10.รพ.บางปะกอก 9 11.รพ.พระราม 2

โซนที่ 4 สมุทรปราการ มี 8 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.สำโรงการแพทย์ 2.รพ.เมืองสมุทร 3.รพ.เมืองสมุทรปู่เจ้า 4.รพ.เปาโลสมุทรปราการ 5.รพ.รัทรินทร์ 6.รพ.ศิครินทร์ 7.รพ.บางนา 1 8.รพ.เซ็นทรัลปาร์ค

โซนที่ 5 กรุงเทพชั้นใน มี 14 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.กล้วยน้ำไท 2.รพ.คามิลเลียน 3.รพ.แพทย์ปัญญา 4.รพ.เปาโลเมมโมเรียล

“สมาคม รพ.เอกชน ยินดีอย่างยิ่งกับความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ความเดือดร้อนด้านสาธารณสุขให้บรรเทาลุล่วงไป” นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าว

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการสมาคม รพ.เอกชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สปสช.ได้ร่วมประชุมหารือกับสมาคม รพ.เอกชน ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆเรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรณีผู้ป่วยนอก รพ.ได้รับค่าบริการตามจริงแต่ไม่เกินครั้งละ 700 บาท 2.กรณีผู้ป่วยใน เบิกจ่ายตามระบบ DRG ในอัตรา 9,000 บาท ต่อ 1 DRG ยกเว้นการสำรองเตียงด้วยโรคที่ระบุตามสัญญากับสปสช.และรพ.เอกชนบางแห่งให้ยึดถือตามสัญญาเดิม และทั้ง 2 กรณี หากเกินอัตราที่กำหนดให้รพ.เก็บข้อมูลและประสานสปสช.เพื่อพิจารณาค่าชดเชยส่วนเกินตามความจำเป็นต่อไป ขณะที่การให้บริการส่งตัวผู้ป่วยด้วยรถของรพ.เอกชนอื่นให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราเที่ยวละ 500 บาท บวกอัตราเพิ่มตามระยะทางไป-กลับ 4 บาทต่อกิโลเมตรโดยประมาณ ซึ่งการดำเนินการนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 จนกว่าภาวะอุทกภัยจะบรรเทาและสปสช.ได้มีประกาศหรือมีหนังสือยกเลิกล่วงหน้า การให้บริการตามข้อตกลงนี้ ทางระบบบัตรทองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ในการดำเนินการนั้น ทาง สปสช. และสมาคมรพ.เอกชน จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อการให้บริการข้อมูลต่างๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและ รพ.เอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ผ่านสายด่วน สปสช.1330 การร่วมกันช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ จะนำไปสู่การร่วมมือกันระหว่าง สปสช.และสมาคม รพ.เอกชนในโอกาสต่อๆไป” เลขาธิการสมาคม รพ.เอกชน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น