xs
xsm
sm
md
lg

ดูแลสุขภาพด้วย “สมุนไพรไทย” สู้พิบัติภัยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปั้นยาเม็ด
นอกจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่า ฤดูหนาวในปีนี้กำลังจะเริ่มแล้ว ในช่วงกลางเดือน ต.ค.-เดือน ก.พ.55 และจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสู้โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ พร้อมทั้งศึกษาวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง และคนในครอบครัวได้ด้วยสมุนไพรไทย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร จากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร กล่าวว่า ทั้งจากอุทกภัยน้ำท่วมและอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง โดยให้สังเกต อาการที่เกิดกับร่างกาย โรคหวัด จะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย เบื่ออาหาร หรือ มีไข้ร่วมด้วย เราสามารถใช้สมุนไพรไทยที่หาง่ายใกล้ตัว ดังนี้ ฟ้าทะลายโจร โดยตำรับยาไทย มีขนาด และวิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษา 4 วิธี คือ ยาชง ใช้ใบ 5-7 ใบ จะเป็นใบสดหรือแห้งก็ได้ แต่ใบสดจะมีสรรพคุณดีกว่า เติมน้ำเดือดลงไปจนเกือบเต็มแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือพอให้ยาอุ่นแล้วรินน้ำกิน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร

ยาต้ม ใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งต้นและใบจำนวน 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ให้เดือดนาน 10-15 นาที ถ้าต้มให้เดือดไม่นานพอ ยาจะมีกลิ่นเหม็นเขียว กินยาก ควรกินยาในขณะที่น้ำยาอุ่น กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร สามารถกลบรสขมได้ด้วยการกินของรสเปรี้ยว เค็มตาม

ยาเม็ด นำมาทำเป็นยาเม็ดได้ด้วยการเด็ดใบสดมาล้างให้สะอาด ตากแดด 1-2 วัน จนใบแห้งกรอบสีเขียวเข้ม บดเป็นผงให้ละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นกินขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก กินครั้งละ 5-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร

ยาแคปซูล ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากเนื่องจากสะดวก ด้วยการเอาผงยาที่ได้เหมือนยาเม็ดมาปั้นเล็กๆ ใส่แคปซูลเพื่อช่วยกันรสขมของยา แคปซูลที่ใช้ ให้ใช้ขนาดเบอร์ ๐ หรือประมาณ 400-500 มิลลิกรัมของผงแห้ง กินครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร
ขิง
การใช้ฟ้าทะลายโจรที่ให้ผลดีและออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุดในการแก้ไข้หวัด คือ ถ้าเริ่มรู้สึกว่าครั่นเนื้อครั่นตัวทำท่าว่าจะเป็นไข้ ให้รีบรับประทานทันที

ฟ้าทะลายโจรนอกจากจะมีสรรพคุณในการลดไข้ แก้หวัดแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่สามารถรักษาอาการท้องเสียโดยไม่ทำให้หยุดถ่ายทันทีได้ วิธีใช้คือเมื่อเริ่มมีอาการให้รีบผสมผงเกลือแร่ดื่มทันทีไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาปฏิชีวนะ แล้วใช้ฟ้าทะลายโจรขนาด 2 กรัมต่อวันแบ่งให้ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน ฟ้าทะลายโจรจะทำให้การขับถ่ายเป็นปกติและมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นในรายที่ติดเชื้ออหิวาตกโรค ควรนำส่งโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลโดยด่วน

ขิง สมุนไพรในครัว ก็นำมาใช้แก้หวัดได้ เราสามารถทำน้ำขิง พิชิตหวัด และแก้ไอ ตามตำรายาพื้นบ้านไทย ได้ไม่ยากนัก ด้วยการใช้ขิงแก่สดล้างสะอาดทุบให้พอบุบ โดยไม่ต้องขูดเปลือกทิ้ง ประมาณ 1 ถ้วย น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำสะอาด 3 ลิตร ต้มให้เดือดแล้วลดไฟลง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนน้ำขิงกลายเป็นสีเหลือง เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งตามใจชอบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณต้านหวัดได้

กระเทียม สมุนไพร สารพัดประโยชน์ คู่ครัวไทยอีกหนึ่งตัว เพียงรับประทานกระเทียมสดเป็นประจำสามารถป้องกันหวัดและลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ ในฤดูกาลที่มีการระบาดของหวัดควรรับประทานกระเทียมในรูปแบบต่างๆเป็นประจำ กระเทียมช่วยทำให้การหายใจโล่งขึ้นอีกด้วย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ยังแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคหวัดอย่างง่ายๆ ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง รวมทั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อย่าง ตระไคร้ กระเพรา บัวบก พลูคาว หรือ หอมแดง หอมใหญ่ ผักชีฝรั่ง ใบหม่อน และใบฝรั่ง ที่อุดมด้วยสาร Queritin รวมทั้งผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงๆ อย่าง มะขามป้อม มะนาว ส้ม ผลยอ หรือ ผลไม้ที่มีสีแดง เป็นสมุนไพรที่ควรจะนำมารับประทานเป็นประจำในช่วงนี้ และ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการได้รับแสงแดดบ้างจะช่วยเพิ่มวิตามินดี ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน และภูมิคุ้มกันดีขึ้น
ยาเม็ดสมุนไพร
นอกจากนี้ ยังมีการใช้สมุนไพรทาภายนอก หากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณถูกกัดต่อย ควรรีบทำความสะอาด และใช้สำลีหรือผ้าก๊อซชุบน้ำสมุนไพรที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม มะขามเปียกโปะไว้ หรือ นำส่วนที่ถูกกัดจุ่มไว้จนกว่าจะหายปวด ซึ่งพิษของสัตว์มีพิษทุกชนิดเป็นสารพวกโปรตีนจึงถูกทำลายได้ด้วยสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้เขาสัตว์ ขนเม่น เปลือกหอย หรืออะไรที่มีแคลเซียมฝนกับน้ำมะนาว ทาบ่อยๆ หรือใช้ มะขามเปียกผสมปูนแดงเล็กน้อย ทาแปะไว้ ซึ่งหลังถูกกัดต่อยควรรีบทำทันทีก่อนที่พิษจะก่อให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรืออาจใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบตำพอก เช่น ใบเสลดพังพอนทั้งตัวเมียและตัวผู้ ใบตำลึง ใบรางจืด ตำหรือปั่นให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยพอกไว้ หรือ สามารถใช้ใบรางจืดประมาณ 7-10 ใบต้มน้ำกิน แต่ถ้ามีอาการมากควรใช้การตำหรือปั่นใส่น้ำซาวข้าวกินด้วย เพื่อลดความรุนแรง

สมุนไพรจำพวก ตะไคร้หอม ใบกระเพรา ใบเสลดพังพอนตัวผู้หรือตัวเมีย ตำ คั้นน้ำ หรือ นำไปตากในที่ร่มแล้วบดเป็นผง นำมาทาตัวเพื่อป้องกันยุงกัดได้ ยุง เป็นสัตว์พาหะที่มักจะมาพร้อมกับน้ำท่วมขัง หากยุงกัดเป็นตุ่ม บวม แดง ให้ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบทาบริเวณที่เป็น ที่นิยมคือ ปูนแดง ซึ่งได้จากปูนขาวผสมกับขมิ้น หรืออาจใช้ผงขมิ้นละลายน้ำ ขมิ้นเป็นสีย้อมอาจทำให้เลอะเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวเบื้องต้นได้

หากต้องการสอบถามเรื่องการใช้สมุนไพรเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร.037-211-088-9 ทุกวันในเวลาราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น