ศธ.เตรียมเสนอยูเนสโกร่วมส่งอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทยหลังน้ำลดช่วงคริสต์มาส พร้อมจัดส่ง นร.นศ.ไทยไปศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงงานของเยอรมนี เพื่อให้นำความรู้ประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศไทย
นายวรวัจน เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลัง นายรอล์ฟ กอทท์ฟรีด ชุลเซอ (H.E. Mr.Rolf Peter Gottfried Schulze) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับหน้าที่ใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ได้แสดงความประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ กับประเทศไทยที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มอบเงินจำนวน 1 แสนยูโร เพื่อช่วยบูรณะมรดกโลกใน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงสภากาชาดไทย และศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนี เสนอว่า จะจัดโครงการเปิดรับอาสาสมัครผู้ที่มีความรู้สายช่างและนักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปในประเทศเยอรมนี เพื่อเดินทางมาช่วยฟื้นฟูโรงเรียนและสถานศึกษาและโรงงานที่ได้รับความเสี่ยหายจากน้ำท่วมในประเทศไทยในช่วงฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่จะถึงนี้ และพร้อมจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยเหลือ
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาฯจะเชิญไปทุกประเทศให้เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากขณะนี้ต่างประเทศทั่วโลกได้รับรู้ถึงเหตุการณ์อุทกภัยที่ประเทศไทยประสบอยู่นั้น ได้รับความเสียหายหนักมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยเยอะมากแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการส่งอาสาสมัครมาช่วยฟื้นฟูในครั้งนี้แล้ว นอกจากนี้ ตนจะแจ้งในที่ประชุมยูเนสโก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม นี้ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งอาสาสมัครมาช่วยเหลือซ่อมแซมและฟื้นฟูโรงเรียนและสถานศึกษาในประเทศไทย
“จากนี้ไป ศธ.จะรวบรวมสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด และวางแผนว่าจะให้อาสาสมัครไปช่วยฟื้นฟูจุดที่ได้รับความเสียหายว่าอยู่ที่ใดบ้าง โดยประเทศไทยจะดูแลเรื่องที่พักและอาหารให้กับอาสาสมัครเหล่านี้ ซึ่งจะอยู่ในประเทศไทยประมาณ 7-10 วัน มาในลักษณะหลักมนุษยธรรมในการช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งการเดินทางมาของอาสาสมัครเหล่านี้เท่ากับเราได้พัฒนาระบบการศึกษาของไทยเราไปได้อีกระดับหนึ่งด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
นายวรวัจน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังได้หารือกับเอกอัครราชทูตเยอรมนี เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับเยอรมนีและการสนับสนุนการสอนภาษาเยอรมันในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาฯจะมีโครงการร่วมกับประเทศเยอรมนี โดยจะส่งนักเรียน นักศึกษาไปศึกษาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโรงงานของประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ เพื่อให้นำความรู้และประสบการณ์กลับมาทำงานในประเทศไทย
อนึ่ง รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาทั่วโลก โดยได้ริเริ่มโครงการ “โรงเรียน:ความร่วมมือแห่งอนาคต” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียนให้เกิดขึ้นทั่วโลกได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 โรงเรียน เพื่อปลุกความสนใจของเยาวชนยุคใหม่ และเพื่อให้เกิดความประทับใจต่อความทันสมัยของประเทศและสังคมเยอรมนีสมัยใหม่
ปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จำนวน 7 โรง ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนสตรีนนทบุรี โรงเรียนสตรีภูเก็ต โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนพิงครัตน์ ส่วนระดับอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัยของไทย 4 แห่งที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัยเยอรมัน