รพ.สังกัด สธ.เสียหาย 436 แห่ง ขณะที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา-นครสวรรค์ วิกฤตหนัก ต้องปิดทำการ เร่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต่อพื้นที่ใกล้เคียง
นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ประสบปัญหาอุทกภัยทั้งสิ้น 436 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัย ซึ่งมีประมาณ 384 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) 8 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) อีก 22 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) 20 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อีก 1 แห่ง โดยหนักสุดคือ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ นอกนั้นกระจายตามจังหวัดต่างๆ การประเมินผลเบื้องต้น รพ.ได้รับความเสียหาย ณ ขณะนี้และต้องปิดทำการชั่วคราวประมาณร้อยละ 60 ของโรงพยาบาลทั้ง 436 แห่ง ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ต้องรอให้ผ่านพ้นวิกฤตก่อน สิ่งสำคัญต้องเร่งดำเนินการป้องกัน และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก ซึ่งจุดนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละที่เป็นหลัก
นพ.สมชัย กล่าวว่า ปัญหาของโรงพยาบาลที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ระบบไฟฟ้า แม้จะมีเครื่องปั่นไฟสำรอง แต่ใช้ได้ชั่วคราว หากจะใช้ทั้งวันทั้งคืน จำเป็นต้องมี 2-3 เครื่อง ซึ่งปัญหาคือ ต้องเคลื่อนย้ายเครื่องปั่นไฟไว้ในที่สูงอีก เนื่องจากเครื่องปั่นไฟส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ราบ หากน้ำท่วมมาก ย่อมส่งผลกระทบ 2.ระบบแก๊ส สำหรับให้ออกซิเจนเหลว ซึ่งจะอยู่ในแท็งก์ออกซิเจน ส่วนใหญ่จะติดตั้งบริเวณที่น้ำท่วมถึง ขณะที่หากใช้เป็นรถบรรทุกก็ต้องพิจารณาปัญหาว่า จะมีน้ำท่วมขวางการจราจรหรือไม่ และ 3.ระบบน้ำประปา เมื่อไฟฟ้าโดนตัด ระบบประปาก็จะไม่สามารถจ่ายน้ำได้ ตรงนี้เป็นปัญหาทั้งสิ้น ซึ่งหากโรงพยาบาลใดมีปัญหาเหล่านี้ก็ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการจับคู่โรงพยาบาลใกล้เคียงในการส่งต่อผู้ป่วยแล้ว อาทิ นครสวรรค์จับคู่พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา เข้าสู่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ที่ กทม.ปทุมธานี และ นนทบุรี กรณีฉุกเฉินก็ต้องส่งมายัง กทม.เช่นกัน ทั้งนี้ การส่งต่อจะเน้นผู้ป่วยหนักก่อน ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง