xs
xsm
sm
md
lg

“เดอะ รีเจ้นท์” ร.ร.นานาชาติสายพันธุ์ไทย อบอุ่น ปลอดภัยเหมือนอยู่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

“เราต้องเข้าใจเด็กและมองเขาในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ ต้องสนับสนุนให้เด็กที่มาเรียนมีความสุขเมื่อมาเรียน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำตลอดระยะเวลา 15 ปี เมื่อผมเจอหน้าผู้ปกครองของเด็กที่ใดก็ตาม คือ การถามคำถามว่า ทุกเช้าที่ลูกตื่นมาเรียนลูกอยากมาเรียนไหม ซึ่งจะได้รับคำตอบตลอดว่าลูกมีความสุขที่ได้เรียนจุดนี้สำคัญมาก ผมถือว่าคำตอบที่ได้เป็นความสำเร็จ”ความในใจของ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานร.ร.นานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์ (The Regent’s School) ผู้ก่อตั้งและกูรูนักการศึกษาที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์
ดร.วีระชัย เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ เกิดมาจากที่ส่งลูกชายไปเรียนยัง ร.ร.ระดับท็อปเทน ที่ประเทศอังกฤษ แต่ปรากฏว่า ลูกชายกลับรู้สึกว่าเขาถูกรังแก เกลียดตอนเช้าเพราะไม่อยากไปเรียน เมื่อมาอยู่หอพักก็มีปัญหาถูกรังแก ผมจึงคิดว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่มีร.ร.เหมือนที่ลูกผมเรียน จึงได้ตัดสินใจเริ่มทำ ร.ร.นานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์ แห่งแรกขึ้นที่พัทยา และตั้งใจทำเป็น ร.ร.ประจำเพื่อที่เราจะได้มีเวลาคัดเลือกบ่มเพาะเด็กที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเราจึงยกทุกอย่างแบบที่ ร.ร.ดีๆ ในประเทศเขามีทั้งหลักสูตรการเรียนที่เรียกว่า จัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ที่มุ่งสร้างเสริมเยาวชนพันธุ์ใหม่ที่เด่นวิชาการ มีคุณธรรมเข้าใจชีวิตและไม่เห็นแก่ตัว คุณภาพของครู บรรยากาศการเรียนการสอน อาคารสถานที่ มาไว้ที่เดอะ รีเจ้นท์ ในประเทศไทย แต่ก็มีการปรับปรุงบางอย่าง เช่น หลักสูตรที่เพิ่มวิชาภาษาไทย ตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

กว่าจะประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ดร.วีระชัย บอกว่า ตนวางเป้าหมายว่า ในระยะเวลา 10 ปี ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ ต้องส่งนักเรียนคนแรกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ดังนั้น การไปสู่เป้าหมายต้องยึดคุณภาพการสอนของประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะคุณภาพครู ที่อังกฤษครูทุกคนต้องมี QTS หรือ Qualified Teacher Status รับรอง เพราะฉะนั้น ตนจึงกำหนดเลยว่าครูที่จะมาสอนที่ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ ทุกแห่งต้องเป็นครูที่มี QTS จึงทำให้ครูส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ 90% และอีก 10% มาจากประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

“เพียง 6 ปีเราก็บรรลุเป้าหมายมีนักเรียนชาวเกาหลีคนหนึ่งก็ได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เรียกนักเรียนคนนี้ไปสัมภาษณ์และตอบรับเข้าเรียนโดยไม่มีเงื่อนไขทั้งที่ผลการเรียนยังออกไม่ครบ เมื่อข่าวนี้ออกไปจึงทำให้ครูชาวอังกฤษทั่วโลกที่รู้อยากมาร่วมงานด้วย ทุกวันนี้เวลาเปิดรับสมัครครูกว่า 30 ตำแหน่ง มีครูชาวอังกฤษมาสมัครสูงถึง 1,500 คนจากที่ช่วงแรก ๆ มีมาสมัครเพียง 200-300 คนเท่านั้น”
กิจกรรมหลังเลิกเรียนของเด็กๆ
ดร.วีระชัย อธิบายด้วยว่า ในด้านการสอนเราให้ความสำคัญในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับปฐมวัย (Early Years & Primary) การวางรากฐานที่แข็งแรงให้ตั้งแต่เด็กนั้น ร.ร.ได้จัดกิจกรรม Early Years Club & Primary Club เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนหลังเลิกเรียน ซึ่งมีทั้งงานศิลปะ งานปั้น การแสดงละคร ว่ายน้ำ เต้นรำ ร้องประสานเสียง เล่านิทาน เป็นต้น

ส่วนเด็กที่อยู่หอพักนั้นจะเป็นนักเรียนที่ขึ้นชั้น Year 6 (มัธยมศึกษา) ซึ่งมีการกำหนดกรอบความประพฤตินักเรียน ที่ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนจะต้องลงนามรับทราบข้อกำหนดและบทลงโทษเมื่อกระทำผิด ถือเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกัน โดยเฉพาะ 5 หลักที่ห้ามกระทำผิดเด็ดขาด คือ
1.ห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องเครื่องดื่มมึนเมา 2.ห้ามเกี่ยวข้องยาเสพติด รวมทั้งบุหรี่ 3.ห้ามมีความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการกอด การจูบ หรือการจูงมือ 4.ห้ามดูเว็บไซต์ไม่สุภาพ หรือนำภาพไม่ดีเข้ามาใน ร.ร.และ 5.ห้ามกลั่นแกล้ง ชกต่อย วิวาท ซึ่งรวมถึงการใช้วาจาส่อเสียด ล้อเลียนเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้หากเด็กฝ่าฝืนทำผิดพ่อแม่ต้องมาลาออกให้ลูกทันที และผู้ปกครองทุกคนยอมรับในข้อกำหนดเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นักเรียนของ ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ ต้องไม่เก่งแค่วิชาการ หรือ Good Head แต่จะต้องมีคุณธรรมและจิตใจดี หรือ Good Heart ที่เรากำหนดครูผู้สอนทุกรายวิชาจะต้องสอดแทรกเรื่องคุณธรรมลงไปด้วย ซึ่งต่างชาติยอมรับว่าเราทำเรื่องนี้ได้อย่างโดดเด่น จนกลายเป็นร.ร.เดียวในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของไทยที่ได้รับเกียรติเชิญเป็นสมาชิกขององค์กร ราวด์สแควร์ (The Round Square Organization) ตั้งแต่ปี 2001 โดยองค์กรนี้จะคัดสรรสมาชิกเฉพาะ ร.ร.ระดับประถมและมัธยมที่มุ่งมั่นผลิตผู้นำเยาวชนที่มีความสมดุลทั้งวิชาการและคุณธรรมเท่านั้น

โดยในปีนี้ ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมการศึกษาองค์รวมโลก ราวด์สแควร์ ระหว่างวันที่ 9-15 ต.ค.2554 ที่ ร.ร.เดอะ รีเจ้นท์ พัทยา ในหัวข้อ We Walk Together ซึ่งจะมีเยาวชนนักบริหารการศึกษาทั่วโลกมาร่วมประชุมกว่า 730 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น