แพทยสภา เตรียมระดมหมอทั่วประเทศหารือเกณฑ์ค่าตอบแทน 14 ต.ค.ด้าน ประธาน สพศท.เมินโมเดลใหม่แพทย์ชนบท แค่สิทธิการคิด เชื่อ สำนักงบฯ ไม่สนับสนุน
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดสรรค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขปีงบประมาณ 2554 งวดแรก 1,717 ล้านบาท จากทั้งหมด 4,200 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากงบประมาณกลางปี 2554จำนวน 1,600 ล้านบาท และเงินเหลือจากการจัดซื้อจัดจ้างภายใน สธ.อีกจำนวน 117 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนดังกล่าวจะแบ่งให้กับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท) โดยจ่ายย้อนหลังตั้งแต่เดือน ต.ค.2553 ขณะที่เงินงวดที่ 2 ราว 2,500 ล้านบาท ต้องรอการจัดจัดสรรจากงบประมาณกลางปี 2555 กระทั่งแพทย์ชนบทออกมาปฏิเสธและเสนอโมเดลของบค่าตอบแทนผ่านเงินเหมาจ่ายรายหัวแทน ว่า ค่าตอบแทนยังเป็นปัญหาสำหรับแพทย์ทั่วไป ยิ่งแพทย์ที่ทำงานหนัก หากปราศจากค่าตอบแทนที่เหมาะสม ยิ่งส่งผลต่อกำลังใจ และอาจเป็นปัญหาแพทย์สมองไหล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทน จะเป็นลักษณะปีต่อปี และพิจารณาตามเกณฑ์ต่างๆ ทั้งจ่ายตามผลงาน จ่ายตามพื้นที่ทุรกันดาร แต่ปัญหาอยู่ที่การจ่ายตามผลงานของแพทย์ ตรงนี้ต้องมีเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากแพทย์แต่ละสาขา ย่อมทำงานแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง แพทย์สูตินรีเวช แพทย์ดมยา แพทย์ออโธปิดิกส์ ล้วนมีภาระงานที่แตกต่างกัน หากนำปริมาณงานมาพิจารณาเป็นคะแนนจะเกิดความไม่เป็นธรรม สิ่งสำคัญต้องมีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น จากปัญหาดังกล่าว แพทยสภา จึงได้รับการร้องขอจากแพทย์ในการเป็นตัวกลางระดมแพทย์ทั่วประเทศ มาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 14 ต.ค. นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันหาแนวทางพิจารณาเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน คาดว่าจะมีตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.) เข้าร่วมราว 100-200 คน
ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ในเรื่องการชูโมเดลค่าตอบแทนของ ชมรมแพทย์ชนบท นั้น เป็นสิทธิส่วนตัวที่สามารถเสนอได้ แต่เชื่อว่า สำนักงบประมาณไม่น่าจะยอมรับได้ ทั้งนี้เชื่อว่าปัญหาทั้งหมดขณะนี้ขึ้นอยู่กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดังนั้นการจะเสนอโมเดลใหม่หมายถึงเริ่มใหม่ ขั้นตอนทุกอย่างก็จะล่าช้า ซึ่งเป็นไปได้ว่า กระบวนการที่ สธ.ดำเนินการน่าจะเดินต่อได้เร็วกว่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในการหารือร่วมกับแพทยสภาในวันที่ 14 ต.ค.นี้ อาจจะมีการหารือประเด็นนี้เพิ่มเติมด้วย แต่ไม่มีความกังวลใดๆต่อเรื่องนี้อยู่แล้ว
สำหรับโมเดลการจ่ายค่าตอบแทนในโรงพยาบาลชุมชน ที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เสนอแก่รัฐบาล คือ ไม่ใช้เงินจากงบประมาณกลาง แต่จะใช้เงินจากงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 อีกประมาณ235บาทต่อหัวประชากร ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 201 บาท และงบประมาณส่งเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น 34 บาท โดยโมเดลที่จะเสนอ จะใช้เงินที่เพิ่มขึ้นก้อนดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 100 บาท สำหรับจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาล ซึ่งเมื่อคำนวณจากประชาชนที่ลงทะเบียนอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน38 ล้านคน จะเท่ากับ 3,800 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณที่เคยได้รับจากงบประมาณกลางตามระเบียบเงินบำรุง ฉบับ 4 และ 6 ส่วนเงินอีก100บาท ก็จะนำไปใช้แก้ปัญหาของระบบ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี