“วรากรณ์” ชูโครงการคืนหนังสือดีกลับโรงเรียนบ้านเกิดคนละเล่ม ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กรุ่นใหม่ได้ แนะภาครัฐซื้อหนังสือดีอ่านง่ายแจกเด็ก ประหยัดกว่าซื้อแท็บเล็ต ชี้ไม่เห็นด้วยหากศธ.จะปรับลดงบฯห้องสมุดแบบหนังสือมาทำห้องสมุดแบบE-book แทน
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง “วาระการอ่านแห่งชาติหายไป แต่ได้ One Tablet กลับมา” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า หากจะทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้นั้น จะพึ่งแต่วาระการอ่านแห่งชาติของภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันส่งเสริม เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกันทำโครงการส่งคืนหนังสือดีกลับโรงเรียนบ้านเกิดคนละ 1 เล่ม โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในชนบทที่ขาดแคลนหนังสือดี ก็จะส่งผลให้เด็กในโรงเรียนนั้นๆ ได้รับประโยชน์จากรุ่นพี่ด้วย ทั้งนี้ เพราะทุกคนมาจากหลากหลายพื้นที่ จึงคิดว่าหากศิษย์เก่า 100 คนในโรงเรียนนั้นๆ ได้ทำตามโครงการดังกล่าวแล้ว ห้องสมุดของโรงเรียนในชนบทก็จะมีแต่หนังสือดี 100 เล่มด้วย เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กรุ่นใหม่ต่อไป
“ผมได้แนวคิดดังกล่าวมาจากวิถีชีวิตของปลาทูที่พอเวลามันเติบโตก็ออกไปข้างนอก แต่เวลาจะวางไข่ก็กลับมาวางในที่เกิด ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่ามันจำได้อย่างไรว่ามันเกิดที่ไหน จึงเป็นแนวคิดตามโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ก็อยากให้ภาครัฐทำโครงการจัดซื้อหนังสือดีที่อ่านง่ายแจกนักเรียน ซึ่งอาจใช้งบไม่กี่พันล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กที่จะเป็นอนาคตชาติต่อไป เพราะหากเราเดินถูกทางแล้วก็จะเป็นประโยชน์ไปชั่วอายุคน ดีกว่าเอางบหมื่นล้านมาซื้อแท็บเล็ตอีก” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะปรับลดงบห้องสมุดแบบหนังสือแล้วมาพัฒนาเป็นห้องสมุดแบบ E-book แทน เพราะมองว่าห้องสมุดที่เป็นหนังสือยังมีความสำคัญอยู่ เพื่อจะตอบโจทย์สำหรับเด็กต่างจังหวัดและประชาชนนอกระบบการศึกษาที่เข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต จะได้ค้นคว้าหาความรู้ได้